ปัจจุบัน ความต้องการแกะพันธุ์ดี เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ มีค่อนข้างมาก เนื่องจากแกะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายใช้พื้นที่น้อย สามารถใช้แรงงานที่มีในครัวเรือน การเลี้ยงแกะมีการลงทุนต่ำ สามารถใช้พืช หญ้า ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นอาหารเลี้ยงแกะได้ โดยให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงและรวดเร็ว โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก หนึ่งในฐานการเรียนรู้ สัตว์เลี้ยงพอเพียง ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สู่ทักษะอาชีพ” โดยทางโรงเรียน ฯ ได้เริ่มดำเนินการในปีการศึกษานี้ คือ การเลี้ยงแกะพันธ์เนื้อ เพื่อต้องการให้เด็กนักเรียนได้มีทักษะ กระบวนการทำงานกลุ่ม และ ความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แกะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยากใช้พื้นที่น้อย สามารถใช้แรงงานของนักเรียน ที่พักนอนอยู่ภายในโรงเรียนได้ ใช้พืชอาหารสัตว์ตามธรรมชาติและวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรจากโรงอาหารโรงเรียน และ หญ้าขนที่ขึ้นอยู่ในชุมชน เป็นอาหารเลี้ยงแกะได้ ทั้งนี้นักเรียนสามารถเลี้ยงได้ เป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักแก่ครอบครัวด้วย นายวราพงษ์ ช่างเจริญ อาจารย์ที่สอนวิชาเกษตรกรรม บอกว่า “การเลี้ยงแกะของโรงเรียนเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้สัตว์เลี้ยงพอเพียง เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีทักษะ จัดการดูแล เกิดการเรียนรู้ ให้เด็กฝึกทักษะอาชีพ เป็นการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ การส่งเสริมให้เลี้ยงแกะเนื้อ นอกจากสามารถนำออกจำหน่ายได้แล้ว ยังเป็นการฝึกประสบการณ์ให้นักเรียนด้วย สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพในอนาคตได้” ทั้งนี้ โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม ได้เริ่มเลี้ยง จำนวน 22 ตัว เป็นแกะเนื้อพันธ์ผสม ที่เลี้ยงง่ายทนต่อโรคและสภาพอากาศในพื้นที่ ที่ผ่านมาได้เริ่มเลี้ยงมาประมาณ 1 เดือน ขณะนี้แกะได้ขยายพันธ์ให้ลูกมาอีก 3 ตัว โดยได้มีการสร้างโรงเรือนยกพื้นสูง มีหลังคากันแดดและฝน และ ทำคอกปล่อยให้แกะได้วิ่งรอบโรงเรือน เพื่อให้แกะออกกำลังมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เป็นที่ต้องการของตลาด ภายในโรงเรือนจัดให้มีอุปกรณ์ให้น้ำและอาหารอย่างเพียงพอ ใช้วิธีปล่อยเลี้ยงในแปลงหญ้าหรือพื้นที่สาธารณะทั่วๆ ไป เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยใช้พืชอาหารสัตว์ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในแปลงหญ้าหรือใช้อาหารที่เหลือจากโรงอาหารของโรงเรียน เสริมด้วยอาหารข้นทุกวัน เลี้ยงขุนจน แกะมีอายุ 8-12 เดือน มีขนาดน้ำหนักตัว ประมาณ 30 กิโลกรัม ก็เริ่มจำหน่ายได้ ดังนั้น โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม จึงทำเป็นฟาร์มตัวอย่างและเป็นต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนหรือผู้ปกครองนักเรียน สามารถเข้าไปศึกษาแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงแกะ จนสามารถผลิตแกะเนื้อคุณภาพดี ส่งเข้าโรงงานแปรรูป ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ผสมผสานกับการปลูกพืช เช่น สวนยางพารา ผลไม้ เป็นต้น การจัดทำฟาร์มเลี้ยงแกะของโรงเรียน จึงผสมผสานกับการปลูกพืชหลัก ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ถูกต้องเพื่อเป็นจุดเรียนรู้ ถ่ายทอดแก่ผู้สนใจทั่วไป นางสาวกาละ แซ่เถา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เล่าว่า “ตนเองพร้อมกับเพื่อน ๆ มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องขน ถ้าขนแกะมันมาก จะทำให้แกะทรงตัวไม่อยู่ เราจึงต้องตัดขนออก และยังมีหน้าที่เลี้ยงลูกแกะที่ออกมาใหม่ ต้องคอนป้อนนมเป็นอาหารเสริม ให้ลูกแกะมีสุขภาพดี หาก 1-2 วัน ลูกแกะสกปรก ก็ต้องอาบน้ำให้ลูกแกะด้วยค่ะ” นอกจากนี้แล้ว ทางโรงเรียนยังได้จัดแบ่งพื้นที่ สำหรับใช้ปลูกหญ้าสายพันธ์เนเปียปากช่อง 1ที่มีคุณภาพในการใช้เป็นอาหารเลี้ยงแกะ โดยนักเรียนสามารถตัดไปเลี้ยงแกะได้ โดยไม่ต้องออกไปหาหญ้านอกพื้นที่โรงเรียน นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการเรียนรู้ สู่ทักษะอาชีพของนักเรียน สามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มีความรัก ความสามัคคีแล้ว ยังนำประสบการณ์ที่ได้ ไปปรับเปลี่ยนเป็นงานอาชีพของตนเองในอนาคตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ———————————————————