วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 9.00 น รปภ.จากหลายบริษัทในจังหวัดพิษณุโลก อาทิ ห้างหุ้นส่วนจำกัดรักษาความปลอดภัยนพกัญจน์ , บริษัท สเปเชียลไทยการ์ดแอนด์เซอร์วิส จำกัด, บริษัท ไจแอนท์ พิษณุโลก แอสโซซิเอชั่น จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ้าสั่ง อินเตอร์คอมเพลกซ์ เอ็มฟอร์ดจำนวนกว่า 100 คน เดินทางมาที่ศาลาจังหวัดพิษณุโลกเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อ คัดค้าน พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัยที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการชูป้ายด้วยคำคัดค้านต่างๆ หน้าศาลากลางจังหวัด
นายไกรพล พงษ์แก้ว ตำแหน่งครูฝึกและหัวหน้าฝ่ายจัดการพิเศษ บริษัท สเปเชียลไทยการ์ดแอนด์เซอร์วิส จำกัด เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบ พรบ.ฉบับนี้มาก เพราะบริษัทจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 50,000 บาท ส่วน รปภ คนละ 1,000 บาท 3 ปีต่อบัตร 1 ครั้ง และรปภ.บางคนนั้นมีวุฒิการศึกษาไม่จบ ม.3 ต้องทำความเข้าใจรปภ.ส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นในอดีตไม่มีการบังคับใช้ให้ประชาชนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ม.3 ผู้สูงอายุหลายๆคนในสังคมนั้นเรียนจบแค่ ป.4, ป.7 เรียนแค่อ่านออกเขียนได้พอ ดังนั้น พ.รบ ฉบับนี้ไม่เอื้อกับ รปภ.บางคนแล้วจะทำให้ตกงานไม่มีงานทำไว้เลี้ยงครอบครัว เหล่าแกนนำยังเผยอีกว่าถ้าเรื่องไม่ถึงท่านนายกรัฐมนตรีจะพา รปภ.เดินทางไปยื่นหนังสือถึงท่านนายกเองอีกด้วย
นายณรงค์ มะลิลา อายุ 35 ปี สังกัดห้างหุ้นส่วนจำกัดนพกัญจน์ เผยว่า ตนทำงาน รปภ.มาแล้ว 4 ปี มีความรู้แค่ ป.6 จึงต้องทำงานเก็บเงินกับลูกค้าที่ผ่อนสินค้ากับบริษัท แล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ต่อจึงได้มาสมัคร รปภ.ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพกัญจน์ พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำให้ตนจะเสียอาชีพนี้ไปจะไปหางานใหม่คงยาก เพราะสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์และใน พ.ร.บ. ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์พูดถึงคนพิการเลย ทำให้ตนเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านความไม่เป็นธรรมถึงท่านนายกรัฐมนตรี
ต่อมาเวลาประมาณ 10 .00 น. นายไพโรจน์ แก้วแดง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก เป็นตัวแทนมารับหนังสือแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมมีการพูดคุยกับแกนนำและรปภ.โดยนายไพโรจน์ ชี้แจงว่าจะดำเนินการส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 การชุมนุมจึงสลายตัว
สำหรับ รายละเอียด พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย(รปภ.) 2558 บังคับใช้ วันที่ 5 มีนาคม 2559 บริษัท รปภ.ต้องจดทะเบียนและรับผิดชอบมากขึ้น 1.) ลงราชกิจจา 5 พ.ย. 2558 บังคับใช้ใน 120วัน 2.) ผบช.น.เป็นนายทะเบียนกลาง , ผบก.ภ.จว. เป็นนายทะเบียนจังหวัด , ผบ.ตร.เป็นประธาน คณะกรรมการกํากับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ออก กฎ ระเบียบ ต่าง ๆ 3.) ผู้ประกอบธุรกิจ รปภ. ต้องเป็นบริษัท และได้รับใบอนุญาต (ค่าธรรมเนียมฉบับละ 50,000 บาท) ต่ออายุทุก 4ปี ใครทำอยู่ก่อนให้ยื่นคำขอใน 120วัน / มาตรา 16 , 19, 73 , 55 – ฝ่าฝืนจำคุก 1ปี 4.) ให้จัดทําบัญชีรายชื่อพนักงาน รปภ. ยื่นต่อนายทะเบียน หากรายชื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้แจ้งใน 15วัน / มาตรา 30 , 61-ฝ่าฝืนปรับ 2หมื่น 5.) พนักงาน รปภ. ต้องได้รับใบอนุญาต (ค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท) ต่ออายุทุก 3ปี / มาตรา 33 , 36, 63-ฝ่าฝืน เป็นยามเถื่อน จำคุก 3เดือน6.) คุณสมบัติ รปภ. ต้องเป็นคนไทย (ต่างด้าวเป็นยามไม่ได้แล้ว) , อายุ 18ขึ้นไป , ไม่เคยติดคุกคดีชีวิต ร่างกาย เพศ ทรัพย์ การพนัน ยาเสพติด (ต้องพิมพ์มือ) , ได้รับหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย จากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรอง, ใครเป็นอยู่แล้วต้องขอใบอนุญาตใน 90วัน / มาตรา 34 ,74, 63-ฝ่าฝืน เป็นยามเถื่อน จำคุก 3เดือน 7.) วาระเริ่มแรก สถานฝึกอบรมหลักสูตร รปภ. มีไม่เพียงพอ ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติจัดการฝึกอบรม และออกหนังสือรับรองให้ โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ได้ตามระเบียบ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเข้าตรวจสอบที่จุดทำงานได้8. ) เครื่องแบบ รปภ. ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับทหาร ตำรวจ เจ้าพนักงานผู้รักษาความสงบเรียบร้อย / มาตรา 40 , 66-ฝ่าฝืนปรับ 1 หมื่นรายละเอียดฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/104/24.PDF
………………………………………………………………………………………………..
รายงานโดย….น.ส.นิโลบล คำชนแดน นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร / นศ.ฝึกงานพิษณุโลกฮอตนิวส์