เวลา 10.30 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่บ้านเลขที่ 4/7 หมู่ 5 ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก บ้านของ นายภานุ ปานเพ็ชร อายุ 51 ปี พร้อมด้วยนางนวรัตน์ ปานเพ็ชร ภรรยา และมารดานางสุรีย์ ปานเพ็ชร อายุ 80 ปี ผู้บริโภคชาวพิษณุโลกที่ได้ร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า กุนเชียงเจ้าประจำที่ซื้อมาจากร้านค้าในหมู่บ้าน มีพลาสเตอร์ปิดแผลปะปนอยู่ในเนื้อกุนเชียงด้วย และส่งผลให้นางสุรีย์ ปานเพ็ชร ถึงกับอาเจียน เมื่อรู้ว่ากุนเชียงที่รับประทานเข้าไป มีสิ่งปลอมปน โดยครอบครัว ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานกับตำรวจที่สภ.ย่อยชุมชนม.นเรศวรแล้ว และได้โทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าของโรงงานผลิต รวมถึงส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบกระบวนการผลิต
ในวันนี้ หลังจากเป็นข่าวทางสื่อมวลชน กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นำโดยเภสัชกรหญิงกฤษณา มาศขาว เภสัชกรชำนาญการ ได้เดินทางมาบ้านหลังดังกล่าวเพื่อพบกับครอบครัวปานเพ็ชร โดยกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสสจ.พิษณุโลก ได้ตรวจสอบสภาพกุนเชียง ที่เจ้าทุกข์ ยังคงเก็บกุนเชียงไว้ 1 ถุง พร้อมกับกุนเชียงที่หั่นแล้ว และพบพลาสเตอร์ยาแปะแผลที่ใช้แล้ว 1 แผ่น ที่เจ้าทุกข์ยืนยันว่า เจอในเนื้อกุนเชียงดังกล่าว อีกทั้งยังได้ร่วมผ่าพิสูจน์เนื้อกุนเชียงอีก 2 แท่ง เพื่อตรวจสอบว่ามีอะไรปนเปื้อนอีกหรือไม่ และจากการหั่นพิสูจน์ ไม่พบวัสดุใดปนเปื้อนอีก
เภสัชกรหญิงกฤษณา มาดขาว เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาตรวจสอบกุนเชียงดังกล่าว และบันทึกคำให้การจากผู้เสียหาย โดยซักถามถึงการซื้อกุนเชียงมาบริโภค ที่พบว่าซื้อมาจากร้านค้าประจำในหมู่บ้าน และสอบถามถึงการร้องเรียน ก็พบว่า ผู้บริโภค ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้วที่สภ.ย่อยชุมชนม.นเรศวร และได้โทรศัพท์สอบถามไปยังเจ้าของโรงงานผู้ผลิตแล้ว อีกทั้ง ยังได้ส่งเรื่องไปยังสสจ.นครราชสีมาแล้วด้วย และจากการตรวจสอบวันนี้ พบว่า กุนเชียงยี่ห้อดังกล่าว มีการขออนุญาตการผลิตอย่างถูกต้อง หลังจากมาบันทึกคำให้การของผู้เสียหายวันนี้แล้ว จะรีบส่งเรื่องไปยังสสจ.นครราชสีมา ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานดังกล่าว เพื่อดูแลมาตรฐานกระบวนการผลิต
นายภานุ ปานเพ็ชร เปิดเผยว่า ครอบครัวตนซื้อกุนเชียงยี่ห้อนี้มารับประทานเป็นประจำ จากร้านค้าในหมู่บ้าน หลังจากวันที่ 28 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ขณะภรรยาตนนำกุนเชียงกำลังนำกุนเชียงมาหั่นเพื่อปรุงอาหารให้มารดาตนรับประทานก็พบเศษพลาสเตอร์แปะแผล 1 ชิ้น อยู่ในเนื้อกุนเชียง เมื่อมารดาตนทราบข่าวถึงกับอาเขียน ความดันขึ้น วันรุ่งขึ้นตนจึงไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สภ.ย่อยชุมชนม.นเรศวร และส่งเรื่องไปยังสสจ.นครราชสีมา สอบถามถึงความรับผิดชอบจากเจ้าของโรงงาน โดยโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วย แต่เจ้าของโรงงานบอกว่า แค่เรื่องเล็ก แค่พลาสเตอร์แผ่นเดียว จะนำกุนเชียงไปให้ใหม่ 10 ถุง แต่ตนไม่ต้องการ ตนต้องการให้มีการตรวจสอบกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง และจากคำพูดคำเดียวว่าเรื่องเล็ก ๆ ตนจึงนำเรื่องร้องเรียนกับสื่อมวลชนในพิษณุโลก ขณะที่การร้องเรียนไปยังสสจ.นครราชสีมาแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ว่ามีการตรวจสอบกระบวนการผลิตหรือยัง และหลังจากนี้คงไม่ซื้อกุนเชียงมารับประทานอีกแล้ว