เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่แปลงนาสาธิต สาขาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ดร.ทินกร ทาตระกูล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลก พร้อมด้วย พล.อ.ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และสมาคมศิษย์เก่าเกษตรบ้านกร่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณาจารย์ พนักงาน ร่วมถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะบริหารธุรกิจและศิลปะศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วมกิจกรรม “รวมแรงสามัคคี สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว”
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพี่อให้น้องๆ นักศึกษา ได้ลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนา ที่ตนเองได้ลงมือดำเอง ปลูกเอง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลก ได้จัดกิจกรรมโครงการ “ราชมงคลร่วมใจสืบสานวิถีข้าวไทย ด้วยการทำนา” โดยให้น้องๆ นักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2558 ทำกิจกรรมดำนาโดยใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในพื้นที่แปลงนา 14 ไร่ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการปลูกข้าว และตระหนักถึงความสำคัญของข้าวไทย อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์อันดีงามระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาพิษณุโลก ที่มุ่งเน้นการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้น้องใหม่ที่เข้ามาศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเกิดความอบอุ่นใจ เกิดความรัก ความสามัคคีระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง นักศึกษาในสถาบันเดียวกัน และยังเป็นการร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงาม คือ การปลูกข้าวแบบดั้งเดิมของเกษตรกรชาวนาไทยให้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลานอีกด้วย
ด้าน ดร.ทินกร ทาตระกูล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลก กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เริ่มขึ้นเพื่อเป็นการรับน้องใหม่ หรือต้อนรับนักศึกษาใหม่อย่างสร้างสรรค์ ประจำปีการศึกษา 2558 โดยนำนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่สอบเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งเด็กในจังหวัดพิษณุโลกและจากต่างจังหวัดใกล้เคียง โดยทุกคนล้วนมาจากคนละครอบครัว ต่างจิต ต่างใจ ต่างนิสัยกัน การทำกิจกรรมลงแขกดำนา หรือลงแขกเกี่ยวข้าว ถือเป็นการละลายพฤติกรรมเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเปิดใจพูดคุยกันในหมู่เพื่อนใหม่ แสดงความความเป็นตัวเองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทำให้นักศึกษารู้จักความรักความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กันและกัน ร่วมกันดูแลแปลงข้าวที่ปลูกด้วยมือของตนเอง รวมเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน 24 วัน จนถึงเวลานี้ก็ถึงเวลาอันสมควรที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยแปลงข้าวที่นักศึกษาได้เรียนรู้นั้นจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาขาพืชศาสตร์คอยให้คำแนะนำ เน้นการปลูกข้าวที่มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค จึงเป็นแปลงข้าวที่ไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ที่สำคัญได้องค์ความรู้ ว่าการปลูกข้าวตั้งแต่เริ่มกระบวนการปลูกดำนาจนถึงวันเก็บเกี่ยวข้าวเป็นเช่นไร ส่วนในอนาคตทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลกจะมีโครงการสร้างโรงสีข้าวสาธิตเพื่อใช้สอนนักศึกษา และได้เรียนรู้กระบวนการแปรรูปผลผลิตที่ได้มา นำกลับมาขายในราคาถูก ให้ชุมชนมีข้าวคุณภาพดีไว้บริโภคต่อไป.
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..