นักเรียนโรงเรียนนาบัววิทยา เรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่การการถนอมอาหารสูตรเด็ด โดยนำสมุนไพรไทยมาประยุกต์ใช้กับการทำไข่เค็มโบราณของชาวตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
สืบเนื่องมาจากในชุมชนตำบลนาบัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ตามบริเวณบ้านจะปลูกต้นมะพร้าวเป็นจำนวนมาก และ แทบทุกครัวเรือน มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไว้ เพื่อเก็บกินเมล็ดข้าวที่หล่นตามท้องนา จึงทำให้มีไข่เป็ดจำนวนมากแทบทุกครัวเรือน เมื่อเหลือจากรับประทานในชีวิตประจำวันแล้ว จึงจำเป็นต้องทำไข่เค็ม เป็นการถนอมอาหารไว้รับประทาน อีกทั้งทุกครัวเรือนส่วนใหญ่มีการปลูกใบเตย เป็นพืชสวนครัวไว้รับประทาน นักเรียนโรงเรียนนาบัววิทยากลุ่มนี้ จึงนำมาประยุกต์ใช้กับการทำไข่เค็ม เป็นไข่เค็มกะทิใบเตย สูตรพิเศษของทางโรงเรียน
โดยมีมีลักษณะพิเศษกว่าไข่เค็มที่อื่น ๆ คือ เปลือกไข่เป็นสีเหลือง เนื้อไข่เค็มจะนุ่ม รสชาติกลมกล่อม ไข่ขาวไม่เค็มจัด และมีความหอมของกะทิและใบเตย มีคุณค่าทางโภชนาการต่อผู้บริโภค โดยมีวิทยากรท้องถิ่นมาช่วยสอนและให้ความรู้แก่เด็ก ๆ คือ นางทองคำ ปอมี อายุ 60 ปี สอนตั้งแต่การเลือกไข่เป็ดที่มีคุณภาพดี ต้องไม่มีรอยบุบรอยร้าว การเลือกสมุนไพร คือ ใบเตย และ มะพร้าวที่ต้องคั้นเป็นหัวกะทิ และ วิธีทำจนครบขั้นตอนถึงการบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อนำออกจำหน่าย
นางทองคำ ปอมี เล่าว่า “การทำไข่เค็มกะทิใบเตย เราจะได้ความหอมของใบเตย และ ความมันของกะทิ เข้าไปถึงเนื้อของไข่ขาวและไข่แดง ทำให้มีความ นิ่ม หอม อร่อยและมีความมัน รู้สึกภูมิใจที่ได้มาสอนเด็ก ๆ ของโรงเรียนนาบัววิทยา เพื่อให้เด็กได้มีอาชีพติดตัวไปในอนาคต”
นางสาวสุภัสสร แก้วสีทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 บอกว่า “ แนวคิดในการทำไข่เค็มกะทิใบเตย เนื่องจากในชุมชนของเรา มีการเลี้ยงเป็ดไก่มาก ทำให้รับประทานไม่ทัน พวกเราจึงหาวิธีถนอมอาหารขึ้น แต่ตามท้องตลาดก็มีไข่เค็มทั่วไปวางจำหน่าย พวกเราจึงคิดการทำให้เพื่อให้แตกต่างจากท้องตลาด โดยการทำไข่เค็มกะทิใบเตยขึ้นมา เพราะชุมชนของเรามีมะพร้าวและเตยเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องไปซื้อหาวัตถุดิบมาเพิ่มเติม พวกเราจึงคิดนำมาถนอมอาหารเป็นไข่เค็มกระทิใบเตยขึ้นมาค่ะ”
ทั้งนี้ ไข่เค็มกะทิใบเตย ของนักเรียนโรงเรียนนาบัววิทยา มีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันออกไปจากท้องตลาด เนื้อไข่ทั้งไข่ขาวและไข่แดง มีกลิ่นหอมของใบเตย มีกลิ่นหอมของกะทิแล้ว ไข่ยังมีรสชาติไม่เค็มจัด เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป ที่ให้การสนับสนุนซื้อผลิตภัณฑ์ของทางโรงเรียน และ ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกอาชีพและมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย.