จากกรณีมีนักวิชาการค้นพบภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ “คู่ฝาแฝดอินจัน” ในอุโบสถหลวงพ่อทองขาว วัดราชบูรณะ อ.เมืองพิษณุโลก ที่คาดว่าเป็นของช่างศิลป์ในช่วงยุคปลายรัชกาลที่ 3 ได้บรรจงวาดเขียนจากสีฝุ่นและพู่กันจีนเอาไว้อย่างสวยงาม ดูแปลกสะดุดตา ควรคุณค่าแก่การเก็บรักษาไว้ให้กับชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยกาลเวลาผ่านมาอย่างเนิ่นนาน ส่งผลทำให้ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถชำรุดและหลุดลอกไปบ้าง หรืออาจเพราะนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอาจไม่ทันระวังเผลอไปยืนพิงฝาผนังบ้าง หรือเอามือไปลูบจับเสียหายบ้าง
ล่าสุด วันนี้ 18 พ.ย. 2558 หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวออกไป ปรากฏว่าทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัด และจากต่างจังหวัดที่ทราบข่าว ต่างพากันเดินทางมาเที่ยวชมภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลวงพ่อทองขาวกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาพวาดของ “คู่ฝาแฝดอินจัน” ที่ถูกวาดอยู่ที่ผนังด้านขวาของอุโบสถที่ซุกซ่อนไว้ หากใครไม่สังเกตก็จะไม่ทราบ ซึ่งทางพระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ ได้มอบหมายให้พระวรภัทร วรภทโท ผู้ช่วยเลขานุการเจ้าอาวาส นำแผงไม้มาเป็นฉากกั้นเพื่อป้องกันประชาชนและนักท่องเที่ยวไปยืนพิงเสียหายได้ พร้อมทั้งแจ้งประชาสัมพันธ์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก สามารถถ่ายรูปเก็บไว้ศึกษาได้ แต่ขอให้งดใช้แสงแฟลชเพื่อป้องกันรูปภาพเก่าแก่เสียหายจากแสงที่ไปตกกระทบบนภาพวาด
ด้าน น.ส.ณัฐชา พรมโชติ อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ น.ส.สุชานันท์ ป้อมบุญมี อายุ 21 ปี นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ที่เป็นเพื่อนกัน กล่าวว่า ปกติจะเป็นคนชอบมาทำบุญที่วัดราชบูรณะอยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นวัดที่เก่าแก่และมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ อยู่ภายในวัดจำนวนมากมาย พอทราบข่าวว่าที่อุโบสถหลวงพ่อทองขาวมีภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง “คู่ฝาแฝดอินจัน” ที่ปกติแล้วพวกตนก็จะมาเที่ยวชมภาพวาดจิตรกรรมอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนว่ามีภาพวาดนี้ประกอบอยู่ด้วย เพราะส่วนใหญ่ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วัดจะเน้นเป็นภาพเรื่องราวของรามเกียรติ์เสียมากกว่า ทำให้วันนี้รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทราบว่ามีการค้นพบภาพวาดประวัติศาสตร์ ถูกซุกซ้อนเอาไว้เป็นสมบัติของชาวจังหวัดพิษณุโลกและของคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาเรื่องราวต่อไป
ขณะเดียวกัน นายยงวิทย์ น้อยด้วง นายช่างสำรวจ 6ว. สำนักการช่างเทศบาลนครพิษณุโลก พร้อมกับคณะทำงาน ได้เดินทางมาสำรวจสภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์ต่างๆ ภายในวัดราชบูรณะ รวมถึงอุโบสถหลวงพ่อทองขาว สถานที่ค้นพบภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ “คู่ฝาแฝดอินจัน” โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้กล้องโทเทิลสเตชั่นส่องวัดระดับพื้นดินกับระดับพื้นอุโบสถ เพื่อนำไปประมวลหาค่าความต่างของระดับพื้นทั้งคู่ ก่อนนำไปปรับแก้ไขบูรณะใหม่ไม่ให้เกิดความชื้นระหว่างพื้นดินถึงฝาผนังอุโบสถ ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเสื่อมสภาพเร็ว และหลุดลอกออกได้ง่าย ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะแล้วเสร็จ
สำหรับฝาแฝดอิน-จัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่ จ.สมุทรสงคราม โดยมีบิดาเป็นชาวจีนอพยพแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ซึ่งฝาแฝดคู่นี้สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แตกต่างไปจากแฝดติดกันคู่อื่น ๆ ที่มักเสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน.
…………………………………………………………………………………………………………………..