ชาวนา ตำบลนาบัว พิษณุโลกอนุรักษ์การลงแขกเกี่ยวข้าวเป็นการช่วยเหลือคนอาชีพเดียวกัน
- เป็นภาพที่หาดูได้ยากขึ้นในยุคสมัยนี้ ที่ชาวนาจะนำเคียวมายืนกันเป็นแถวร่วมกันเกี่ยวข้าว หรือที่เรียกกันว่าประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว นับเป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่มีการช่วยเหลือซึ่่งกันและกันของชาวนา ช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้าน และที่สำคัญเป็นการทำให้ข้าวเสียหายน้อยกว่าการใช้รถเกี่ยวข้าว
นายบานเย็น แก้วกองทรัพย์ อายุ 70 ปี ทำนา 2 ไร่ หมู่ 1 ต.นาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ชาวนา ต.นาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ยังคงอนุรักษ์การลงแขกเกี่ยวข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีรถเกี่ยว รถไถ่นา เหมือนในยุคปัจจุบัน ชาวนาที่ทำอาชีพเดียวกันจึงรวมตัวกันช่วยกันสลับปรับเปลี่ยนช่วยเหลือกันทำนา โดยเจ้าของที่นาก็จะดูแลเรื่องน้ำ อาหาร ตลอดการลงแขก ซึ่งชาวบ้าน ต.นาบัว ได้ทำแบบนี้มาตลอดหลายสิบปีแล้ว แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง แต่ชาวนาละแวกนี้ยังคงสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะชาวนามีความรักสามัคคีกัน ในอดีตตนทำนานับ 100 ไร่ หลังจากมีลูกมีหลาน ก็แบ่งที่นากันทำกิน จนเหลือเป็นของตนเองเพียง 2 ไร่ ก็จะทำนาปีละ 2 ครั้ง ไว้กินเองและไว้ขายบ้างเล็กน้อย เพียงพอกับการมีชีวิตอยู่ก็เพียงพอแล้ว ชาวบ้านที่นี่ไม่เพียงช่วยเหลือด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าวเท่านั้นมีงานทุกอย่างทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกัน ใครมีแรงมากก็ทำมากใครแก่ชรา เหลือแรงน้อยก็ค่อยๆช่วยกันทำ เป็นความสุขความอบอุ่นของคนในหมู่บ้าน ที่คนเมืองไม่มี เพราะการแข่งขันในการดำเนินชีวิตสูงทำให้คนที่เห็นแก่ตัวมาก
นางปัทมาพร พลฤทธิ์ อายุ 36 ปี ชาวนาหมู่ 1 ต.นาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนเองทำนา 80 ไร่ ยังคงใช้วิธีการทำนาแบบดั่งเดิม คือ การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว ซึ่งวิถีชาวบ้านในแถบนี้ยังคงมีอยู่ ไม่ได้สูญหายไปพร้อมกับวิถีกรใช้เครื่องจักรที่มาทดแทนแรงงานคน จนเกินความเหินห่างของคนในชุมชน เป็นความโชคดีของชาวบ้านนาบัว ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นความสำคัญเรื่องเงินมากนักเพียงแค่มีกินมีใช้ก็เพียงพอ เพราะเราอยู่กับแบบพื้นบ้านแบบนี้เงินแถบไม่ต้องใช่จ่ายกับสิ่งฟุ่มเฟือยมากนัก ทำให้ทุกคนมีเงินเหลือทั้งที่รายได้ไม่มาก
เนื่องจากชีวิตของเกษตรกรไทยเกี่ยวพันระยะเวลาของฟ้าและฝน จึงต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ทำให้เกิดประเพณีลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน นอกจากนี้ลงแขกทำนาช่วยเหลือกันแบบนี้ทำให้ต้นทุนการทำนาต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งหากเป็นการทำนาทั่วไปต้องใช้ต้นทุนสูงถึง 5,000 –7,000 บาท การลงแขกทำนานับเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำนาได้มาก