วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2558) พันเอกอุกฤษฎ์ นุตกำแหง รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4, นายมานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ร่วมปล่อยแถวกำลังพลดำเนินยุทธการทวงคืนผืนป่่า โดยมีจนท.ป่าไม้ประมาณ 100 คน ทหารพล ร.4 กองทัพภาคที่ 3 , ปกครองและตชด.31 ตำรวจป่าไม้และประชาชนประมาณ 120 คน ร่วมดำเนินยุทธการทวงคืนผืนป่า “การบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง”บ้านแก่งไฮ หมู่ที่ 11 ต.หนองกระท้าว อำเภอนครไทย พิษณุโลก เนื้อที่ 961-1-36 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นสวนส้มขนาดใหญ่ ปัจจุบันเปลี่ยนมือสู่นายทุนจากภาคใต้และปลูกยางพาราอายุประมาณ 5 ปี ที่ดินแปลงนี้ จนท.ป่าไม้ ได้จับกุม เมื่อ 6 พ.ค.58 ที่ผ่านมา แต่ไม่มีตัวผู้ต้องหา จึงตรวจยึดพื้นที่ ตาม ปจว.ข้อ 2 คดีที่ 193/58
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารใช้เครื่องเลื่อยยนต์ตัดโค่นสวนยางพาราที่ยึดเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา พบชาวบ้านประมาณ 2-3 รายร้องคัดค้านต่อจนท.ป่าไม้ ระบุว่า เนื้อที่ครอบครองโดยชอบประมาณ 20 ไร่เศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กันออกไว้เพื่อตรวจสอบ และก่อนหน้านี้มีชาวบ้านในพื้นที่ร้องอุทธรณ์คัดค้านการตัดโค่นสวนยาง แปลงเดียวนี้ จำนวน 63 ไร่ซึ่งจนท.ป่าไม้ได้กันพื้นที่ออกไปก่อนหน้านี้ คงเหลือการตัดโค่นสวนยางวันนี้จำนวน 60% ของยอด 961 ไร่เศษ
ต่อมา พันเอกอุกฤษฎ์ นุตกำแหง รอง ผบ.พล.ร.4 และนายมานพ สายอุ่นใจ ผอ.สำนัก 4 สาขาพิษณุโลก ตรวจสอบบริเวณข้างเคียงสวนยางแปลงตรวจยึดและตัดโค่น พบ”ต้นกระท่อม” ซึ่งใบกระท่อมเป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่ง ปลูกอยู่ในสวนยางพารา ริมห้วยหรือสระน้ำสาธารณะ ไม่ต่ำกว่า 3 ต้น จึงได้ประสาน รองผกก.และสวป.สภ.นครไทย ทำการตรวจสอบและสืบหาผู้กระทำความผิด
นายมานพ สายอุ่นใจ ผอ.สำนัก 4 สาขาพิษณุโลก เปิดเผยว่า พบใบกระท่อมปลูกอยู่ในพื้นที่ จึงสั่งจนท.ป่าไม้ จับพิกัด จีพีเอส ทันที คาดว่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขากระยางเช่นเดียวกัน เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ตัดโค่นสวนยาง(ห่างประมาณ 200 เมตร) ที่บ้านแก่งไฮ หมู่ที่ 11 ต.หนองกระท้าว ซึ่งต้นใบกระท่อมทั้ง 3 ต้นเจ้าของที่ดินตั้งใจปลูกไว้ จำเป็นต้องตรวจยึดพื้นที่สวนยางที่พบใบกระท่อมด้วย
ด้าน ตำรวจ สภ.นครไทย ระบุว่า เมื่อเจอต้นกระท่อม ก็จะต้องสืบหาตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ปลูก ถือว่า เป็นยาเสพติดประเภท 5 เหมือนกับต้นกัญชา และเข้าข่ายเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเป็นผู้ปลูก