รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจหาหลักฐานและเก็บสารพันธุกรรม (DNA) และลายพิมพ์มือ เพิ่มเติม กรณีนางสาวโทโมโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นถูกฆาตกรรมที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อปี 2550
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6 จ.พิษณุโลก พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษาคดีพิเศษ พ.ต.อ.ดิเรก ธนานนท์นิวาส รอง ผบก.ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6 พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6 พิษณุโลกร่วมประชุมแนวทางการเก็บสารพันธุกรรม (DNA) และลายพิมพ์มือ กรณีนางสาวโทโมโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นถูกฆาตกรรมที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อปี 2550 คดีพิเศษที่ 188 / 2556
พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกล่าวว่า วันนี้ ได้ร่วมกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6 พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้มาทำการเก็บสารพันธุกรรมและลายพิมพ์มือเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31 ที่ฝึกปฏิบัติหน้าที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุในช่วงเกิดเหตุ ถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 8 ปี แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เราได้ทำการเก็บหลักฐานเรื่อยมา ซึ่งจากการรวบรวมพยานแวดล้อมในที่เกิดเหตุ และได้ทำการขอตรวจดีเอ็นดี ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงในที่เกิดเหตุทั้งหมด ซึ่งในวันนั้นได้มีการฝึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมถึงเจ้าหน้าที่ จำนวน 65 นาย และบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุทั้งหมด ซึ่งหากมีการย้ายถิ่นฐาน ก็จะมีการประสานเพื่อขอตรวจสารพันธุกรรม และทุกคนที่ได้รับการตรวจไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยแต่อย่างใดซึ่งการตรวจในครั้งนี้ เราตรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจ และหากมีผู้ใดที่เสียชีวิตไปแล้ว ทางเราจะได้ทำการเก็บสารพันธุกรรมจากบุตร หรือทายาทผู้สืบสกุล และหากผู้ใดที่สามารถแจ้งเบาะแสจนนำมาซึ่งการไขคดีนี้ได้ ก็มีการตั้งรางวัลนำจับไว้ที่ 500,000 บาท
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษาคดีพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้มาเพื่อเก็บดีเอ็นเอสารพันธุกรรม เนื่องจากในที่เกิดเหตุพบสารพันธุกรรมจากวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ และได้ทำการตรวจดีเอ็นเอ ผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว กว่า 200 ราย แต่ยังไม่พบว่ามีดีเอ็นเอที่ตรงกับวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ซึ่งในวันนี้เราได้นำอุปกรณ์การตรวจที่ทันสมัยมากขึ้น และมีความละเอียดมากขึ้นในการตรวจ คือการนำชุดเอฟทีเอเปเปอร์ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ คือจะมีการป้ายตรวจกระพุ้งแก้ม ซึ่งการตรวจประเภทนี้จะได้สารพันธุกรรมที่ตรงกับรายบุคคลกว่า การตรวจสเตมเซลล์ หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก อีกด้วย นอกจากนี้ทางสถานทูตญี่ปุ่น ได้ขอความร่วมมือให้ทางเจ้าหน้าที่ของไทย เร่งสอบหาคนร้ายที่กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยงและความสัมพันธ์อันดีของ 2 ประเทศอีกด้วย ////////