งานประเพณีแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานประจำปี 2558 ที่สนามหน้าวัดใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ปีนี้ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 19-20 กันยายน 2558 และมีอยู่สิ่งหนึ่งที่เคียงคู่มากับงานแข่งเรือสนามจ.พิษณุโลกมานานหลายปี นั่นคือ ร้านขายข้าวเม่าพอก ของวัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ที่ต้องมาเปิดร้านทอดข้าวเม่าจำหน่ายให้ชาวพิษณุโลกได้รับประทานขนมโบราณสุดแสนอร่อยเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ คณะผู้จำหน่ายข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ ได้มาตั้งร้านจำหน่ายที่จ.พิษณุโลกตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา และจะขายถึงวันที่ 21 กันยายน 2558 สถานที่เดิม คือถนนหน้าวัดใหญ่ ติดกับป้ายชื่อวัด และได้รับความนิยมจากชาวพิษณุโลกที่แวะมาอุดหนุนหนาแน่นตั้งแต่เช้าไปจนถึงเย็น กระทั่งวัดสุดท้ายของการแข่งเรือ
ปี 2558 ร้านข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือ ยังคงจำหน่ายข้าวเม่าพอกในราคาเดิมเหมือนปีที่แล้ว คือแพละ 25 บาท เช้าวันที่ 16 กันยายน 2558 คณะกรรมการวัดหาดมูลกระบือ ที่ประกอบด้วยผู้หญิงสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ 7 คน ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานตั้งแต่เช้ามืด ไล่ตั้งแต่แผนกปลอกกล้วยไข่ และนำกล้วยไข่มาพอกกับข้าวเม่าที่กวนผสมด้วยมะพร้าว น้ำตาล จากนั้นส่งมายังแผนกทอดกล้วยไข่ ที่ก่อฟืน ตั้งกระทะร้อน ๆ ทอดกล้วยไข่พอกด้วยข้าวเม่าจนสีเหลืองน้ำตาลได้ที่ และส่งต่อมายังฝ่ายทอดหน้าข้าวมอก ที่ใช้แป้งผสมไข่และเกลือ ทอดในน้ำมันร้อน ๆ นำมาโป๊ะไว้เป็นหน้าข้าวเม่า และฝ่ายจำหน่ายได้ห่อกระดาษ ใส่ถุงพลาสติกจำหน่ายที่ประทับตรายี่ห้อข้าวเม่าพอกวัดหาดมูลกระบือรับประกันความอร่อยของแท้ด้วย
การทำข้าวเม่าพอกนั้นทำกันเฉพาะงานแข่งเรือที่วัดหาดมูลกระบือ ชาวบ้านต.ไผ่ขวางและต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตรจะช่วยกันทำข้าวเม่าพอกจำหน่าย เงินรายได้ทั้งหมดเข้าพัฒนาวัดตั้งแต่อดีตเจ้าอาวาส จำหน่ายมาตั้งแต่แพละ 3 บาท 5 บาท 10 บาท และมาถึงปัจจุบันแพละ 25 บาท แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างจะเพิ่มขึ้น แต่เจ้าอาวาสวัดหาดมูลกระบือ พระเมธี จันทวฺงโส ให้จำหน่ายในราคาเดิม และยังคงร่วมสืบสานประเพณีดั้งเดิมในการร่วมกันทำข้าวเม่าพอกจะนำเงินทั้งหมดทุกบาททุกสตางค์เข้าพัฒนาวัดหาดมูลกระบือ คณะกรรมการที่มาทำข้าวเม่าพอกก็มาด้วยใจ ไม่มีค่าจ้างใด ๆ ในวันแข่งเรือ19-20 กย.58 ชาวบ้านจากต.ไผ่ขวางและต.ย่านยาว ก็จะมาสมทบช่วยกันทำจำหน่ายที่พิษณุโลกอีกจำนวนมาก
นางประเทือง ยูรมาศ อายุ 77 ปี คณะกรรมการวัดที่มาร่วมทำข้าวเม่าพอกที่สนามแข่งเรือพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปีนี้ขายมา 3 วัด มาถึงวัดใหญ่ งานแข่งเรือที่จ.พิษณุโลกขณะนี้ยอดขายทะลุ 1 ล้านบาทแล้ว คณะกรรมการวัด จะมาช่วยกันทำข้าวเม่าพอกขายเป็นประจำทุกปี เฉพาะที่พิษณุโลกยอดขายแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนบาท และเงินทุกบาททุกสตางค์นำเข้าวัดหาดมูลกระบือทั้งหมด ในช่วงนี้เริ่มมาทอดขายที่พิษณุโลกประมาณ 20 คน แต่ช่วงวันแข่งเรือ ชาวบ้านจะมาช่วยกันขายอีกร่วม 100 คน และจะคงมาขายคู่งานแข่งเรือเรื่อยไปทั้งจ.พิจิตรและพิษณุโลก หมดรุ่นเราก็จะมีรุ่นลูก รุ่นหลานสืบสานต่อ
สำหรับการออกร้านจำหน่ายข้าวเม่าพอกของวัดหาดมูลกระบือนั้น เดิมมีเฉพาะงานประเพณีแข่งเรือวัดหาดมูลกระบือจากนั้น ได้รับการร้องขอจากสนามอื่น ๆ ในพิจิตรและพิษณุโลกให้ไปเปิดร้านจำหน่าย เริ่มจาก วัดหาดมูลกระบือ วัดท่าฬ่อ วัดท่าหลวง จ.พิจิตร และวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก และจะไปปิดท้ายที่วัดบางบัวทอง อ.โพธิ์ประทับช้างจ.พิจิตร และช่วงปีหลัง ๆ ทำเงินรายได้เข้าวัด ข้าวเม่าพอก จึงเป็นสิ่งที่เคียงคู่กันมาของงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ ของจ.พิจิตรและพิษณุโลก การจำหน่ายข้าวเม่าทอด ของชาวบ้านจากชุมชน วัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร นำโดยพระครูพิเชษฐ์ธรรมคุณ หรือ หลวงพ่อวิเชียร อดีตเจ้าอาวาสวัดหาดมูลกระบือ ชาวบ้านทั้งชุมชนยังคงสืบสานประเพณีดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จะจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำข้าวเม่า ซึ่งได้รับบริจาคจากชาวบ้าน อาทิ มะพร้าวนับหมื่นลูก กล้วยไข่ น้ำมันพืช น้ำตาล และอื่นๆ จัดเตรียมไว้ เมื่อถึงวันงาน จึงร่วมมือร่วมแรงกันจัดทำ ข้าวเม่าทอด เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไป บุญข้าวเม่าทอด ของวัดหาดมูลกระบือ จะจัดขึ้นประมาณ 1 เดือน ทุกปีจะเริ่มในเดือนประมาณกลางเดือนสิงหาคมไปสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกันยายน ในแต่ละวัน จะมีการตั้งกระทะทอดข้าวเม่าประมาณ 5-10 ใบ ขณะเดียวกันก็จะแบ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งไปตั้งกระทะไปทอดขายตามสนามแข่งเรือต่างๆ ของจังหวัด แต่ถ้าเป็นในวันงานแข่งขันเรือยาวประเพณีของวัด คณะกรรมการวัดจะตั้งเตาทอดข้าวเม่าไว้กว่า 50 ใบ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และขอแรงคนเฒ่าคนแก่ และหนุ่มสาวทั้งหมู่บ้าน นับร้อยๆ คนมาทอดข้าวเม่าขาย จำนวนเตาทอดข้าวเม่ากว่า 50 ใบ และทอดข้าวเม่าขายตั้งแต่ไก่โห่ ก่อนตะวันขึ้น จนไปถึงตะวันตกดิน หลายคนอาจจะคิดไปก่อนว่า จะทอดขายให้ใครกิน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ข้าวเม่าทอดออกมาสุกเกือบไม่ทันความต้องการของคนกิน ใครจะกินต้องซื้อกันทุกคน แม้กระทั่งคณะกรรมการของวัด ก็ต้องซื้อ…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………