วันที่ 13 กันยายน 2558 กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง และพิษณุโลกฟอรั่ม พร้อมกับ ชาวบ้าน ในเขตอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ เครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรม “Bike for เนินมะปราง” ปั่นรักษาทรัพยากร .. ปั่นเพื่อจะบอกว่าชาวอ.เนินมะปราง “ไม่ต้องการเหมืองแร่ทองคำ..!! เส้นทางที่ปั่น..เพื่อต้องการบอกสังคมให้รับรู้ว่า อ.เนินมะปรางยังเป็นถิ่นอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่น่าหวงแหน มีป่าต้นน้ำ และอาชีพเกษตรกรรม โดยเริ่มสตาร์ทจากโรงเรียนบ้านวังโพรง ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มายังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล อ.เนินมะปราง ระยะทาง 35 กิโลเมตร
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่มีนางอามรย์ คำจริง เป็นแกนนำเครือข่ายกำลังรวบรวมรายชื่อประชาชน สำเนาบัตรประชาชน ของชาวพิษณุโลกและจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวร่วมคัดค้านต่อร่างนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ และเตรียมนำรายชื่อข้อคัดค้าน ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กำลังดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีการขออนุญาตอาญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในบริเวณ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล เกี่ยวกับนโยบายการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ขณะนี้ ได้ดำเนินการล่ารายชื่อประชาชนชาวพิษณุโลกและจากทั่วประเทศ โดยขอแนวร่วมที่คัดค้านกับดำเนินการทำร่างนโยบายการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ ให้ส่งรายชื่อพร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน มายังที่ทำการของแกนนำกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง บ้านของอารมย์ คำจริง เลขที่ 525/1 ม.4 ต.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 20,000 รายชื่อ ขณะนี้มีประชาชนจากทั่วประเทศร่วมส่งสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านมาร่วมคัดค้านแล้ว 10,000 กว่าราย
เหตุผลที่ต้องออกมาคัดค้าน เพราะจากบทเรียนผลกระทบต่อการทำเหมืองทองคำที่พิจิตร ทั้งสภาพแวดล้อม ประชาชน ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นนโยบายที่ไม่คุ้มทุน ผู้ได้สิทธิ์มาลงทุนมาดำเนินการขุดแร่ทองคำได้มูลค่า 6,000 ล้านบาท แต่ภาครัฐได้คืนมาได้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เป็นการละเมิดสิทธิที่ดินของชาวอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพราะที่ดินส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นที่ในเขตป่าไม้ แต่เป็นที่ดินที่ชาวอ.เนินมะปรางทำการเกษตรมาเนิ่นนานแล้ว เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะไม่สามารถเรียกร้องเอากลับคืนมาได้ เฉาพะในเขตอ.เนินมะปราง มีเทือกเขาหินปูนที่สวยงามอย่างมาก เท่าที่มีข้อมูล ขอบเขตของการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล จาก 7 ตำบลในเขตอ.เนินมะปราง ยกเว้นตำบลเนินมะปราง กับตำบลชมพู และถ้าหากถึงขั้นมีการมาลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำในเขตอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก จะส่งผลกระทบกับชาวอ.เนินมะปรางอย่างมาก พืชเศรษฐกิจหลักอย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ และสายพันธุ์ต่าง ๆ ไม้ผลอีกหลากชนิด นาข้าว รวมถึงประชาชน แหล่งน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนในพืช แหล่งน้ำ และร่างกาย จากสารหนู แมงกานิส หรือไซนาไนต์ในกระบวนการทำเหมืองทองคำ
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คคุณ …Nutthawut Uppaและ คุณมนัสชัย อนันตะ
*********