วันที่ 29 สิงหาคม 2558 ที่ห้องสุโขทัย โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก ภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกลุ่มที่ 1 ได้เปิดแถลงข่าวสื่อมวลชนถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางการค้าร่วมกัน 3 ประเทศ หลังจากได้จัดประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลําไย เรื่อง “ภูดู่” ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาสไปเมื่อ 16-20 สิงหาคมที่ผ่านมา
นายฐิติ วิศวชัยวัฒน์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง1 ได้กล่าวถึงความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประเทศไทย กับแขวงไซยะบุรี และแขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมถึงรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลําไย เรื่อง “ภูดู่” ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC) International Conference “PhuDoo” Gate of Companionship and Opportunities) ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 อันประกอบไปด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดตาก และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 16-20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และศึกษาดูงาน ณ จังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 1 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำและกลไกหลักของทั้ง 3 ประเทศ จำนวนกว่า 400 คน จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเจรจาตกลงการค้าการลงทุนร่วมกัน ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอินโดจีนหวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงผลสรุปของการประชุมร่วมกันว่า ทั้ง 3 ประเทศเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนการเคลื่อนย้ายระหว่างสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ (Flow along LIMEC) โดยการเริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายคน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มของการเคลื่อนย้ายหลายๆสิ่งตามมา ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ ความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน การลงทุน และข้อมูลสารสนเทศ ด้านการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ ได้ยกประเด็นสิ่งอำนวยความสะดวก ณ ด่านพรมแดนไทย-ลาว (ด่านพรมแดนภูดู่-ด่านพรมแดนพูดู่) และด่านพรมแดนไทย-เมียนมาร์ (ด่านพรมแดนแม่สอด-ด่านพรมแดนเมียวดี) โดยเสนอให้มีการตรวจตราสินค้าจุดเดียว และเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาคเอกชนสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและเกิดการค้าระหว่างกัน นอกจากนั้นยังมีความเห็นร่วมกันในการกำหนดตัวแทนภาคเอกชนแต่ละประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและประสานงานต่างๆในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้ออกมาเป็นโครงการต่างๆร่วมกัน ด้านสุขภาพ ได้เสนอความร่วมมือระหว่างสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสาธารณสุขโดยให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เป็นแกนหลัก และเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศด้านสาธารณสุขระหว่างกัน นอกจากนี้ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการผลักดันการแพทย์ควบคู่ไปกับธรรมชาติ (อาทิเช่นรีสอร์ท สปา เป็นต้น) การส่งเสริมการแพทย์ทางเลือก (อาทิเช่น การแพทย์แผนโบราณ การนวด เป็นต้น) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์โดยใช้วัสดุท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ด้านการท่องเที่ยว ทุกภาคส่วนในที่ประชุมเห็นร่วมกันในการพัฒนาการท่องเที่ยวในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงศาสนา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวด้านการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม การท่องเที่ยวเชิงชายฝั่งทะเล ซึ่งศักยภาพของสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้มีความพร้อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน ที่ประชุมลงความเห็นร่วมกันในผลักดันการอำนวยความสะดวกผ่านแดน การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาบุคลากร และการสร้างผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่หลากหลาย และด้านโลจิสติกส์ ได้มีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ (Hard Infrastructure) อาทิเช่น อาคาร ถนน สะพาน ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น และ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกระบวนการ (Soft Infrastructure) อาทิเช่น ระบบเอกสาร พิธีการศุลกากร กฎระเบียบข้อบังคับ พิธีการตรวจคนเข้าเมือง กรอบความร่วมมือต่างๆ เป็นต้น โดยต้องสร้างความสมดุลในการพัฒนาระหว่างโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ (Hard Infrastructure) และ โครงสร้างพื้นฐานเชิงกระบวนการ (Soft Infrastructure) นอกจากนั้นที่ประชุมยังเสนอการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชื่อมโยงสามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถบัสประจำทาง เครื่องบิน เพื่อทำให้เกิดความสะดวกสำหรับประชาชนทั้งสามประเทศ
ซึ่งหลังจากการประชุมและศึกษาดูงานจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 1 ภาคเอกชนทั้งสามประเทศบนระเบียงเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประเทศไทย สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงไชยะบูลี สปป.ลาว สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมาร์ และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญ สหภาพเมียนมาร์ ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ภายใต้“ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย” โดยมีเป้าหมายและทิศทางการทำงานอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน จำนวน 4 ประการ ได้แก่ 1. แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านธุรกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน 2. จัดประชุมย่อยระหว่างภาคเอกชนในแต่ละประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน 3. ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการ และ 4. ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจนี้ให้เกิดการยอมรับและเกิดโครงการต่างๆ ร่วมกันในอนาคต
ขณะที่การจัดประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย ในปี 2559 และปีถัดไปนั้น กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกำลังพิจารณาหาจังหวัดเป็นเจ้าภาพ และหัวข้อในการประชุมเพื่อพัฒนากรอบความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่างทั้ง 3 ประเทศต่อไป โดยมีแผนจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง 5 ปี
…………………………………………………………………………………………………….