เวลา 13.30 น.วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ศาลาประชาคมจังหวัดพิษณุโลก คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจ.พิษณุโลกได้แถลงข่าวสื่อมวลชนในเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่เรียกว่า พิษณุโลก 2020 เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกฉบับใหม่ มีพล.อ.ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเป็นประธานในการแถลงร่วมกับนายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ กรรมการรองเลขาธิการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย และพล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.พล.ร. 4
พล.อ.ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. อันประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ชมรมธนาคารจังหวัดพิษณุโลก และสมาคม ATSME จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลก และสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก มีความเห็นร่วมว่า ได้เวลา ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามโครงการและยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS โครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง หรือ ACMECS แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ผังประเทศ ผังภาคเหนือ และผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกที่ได้กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน ศูนย์การบริการ ศูนย์การกระจายสินค้า และศูนย์การท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่สี่แยกอินโดจีน
ประกอบกับรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง โดยได้ประกาศอย่างแน่ชัดแล้วว่า ภายในปี 2563 ที่จะถึงนี้ พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจะเป็นที่ตั้งของ ศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือ Pitsanulok Multimodal Transportation Center อันเป็นสถานีของรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และที่ตั้งสถานีขนส่งสินค้าของรถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ – เด่นชัย
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและองค์กรเครือข่าย เห็นว่าการดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ของรัฐบาล มีผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมต่อจังหวัดพิษณุโลกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน จึงได้นำเอายุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนงานโครงการจากผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมกันยกร่าง มาเป็นกรอบการดำเนินการ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การบริการ การกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ รวมทั้งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งนี้ แผนงานโครงการตามยุทธศาสตร์ผังเมืองรวมจังหวัด ประกอบด้วย โครงการจัดตั้งศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจังหวัดพิษณุโลก โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก โครงการศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมจังหวัดพิษณุโลก โครงการศูนย์พาณิชยกรรมและโลจิสติกส์ระดับภาคบ้านบึงพระ โครงการเขตอุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารและเกษตรจังหวัดพิษณุโลก โครงการเขตนวัตกรรมการผลิตและการวิจัยจังหวัดพิษณุโลก โครงการศูนย์ประชุมนานาชาติ
เพื่อให้การกระตุ้นทางเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์พิษณุโลก 2020 เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีนบังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2559 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและองค์กรเครือข่าย จึงขอเสนอให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ โดยมีทางเลือกการสนับสนุนสิทธิและประโยชน์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยการสนับสนุนด้านสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว และรับผิดชอบในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนงานโครงการดังที่กล่าวข้างต้น
ทางเลือกที่ 2 ให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในบางรายการ หรือลดระยะเวลาการเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามความเหมาะสม และรับผิดชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานที่กล่าวข้างต้น
ทางเลือกที่ 3 รัฐบาลประกาศสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลกที่มีสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นพื้นที่ใจกลาง โครงการศูนย์พาณิชยกรรมและโลจิสติกส์บ้านบึงพระให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าในระดับภาค และโครงการเขตอุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารและเกษตรจังหวัดพิษณุโลก
โดยหลังจากการแถลงข่าว คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและองค์กรเครือข่าย จะยื่นข้อเสนอโดยตรงต่อรัฐบาล และเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์พิษณุโลก 2020 เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ภายในเดือนกันยายน 2558 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและองค์กรเครือข่าย จะเสนอให้จัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก (กรอ.จังหวัดพิษณุโลก) เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนงานโครงการ และให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก (กรอ.จังหวัดพิษณุโลก) นำเสนอแผนงานโครงการต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหรือ กรอ.กลางที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาต่อไป