สัมมนาขับเคลื่อนผังเมืองรวมรองรับยุทธศาสตร์”ภาคเหนือ2020”

0002วันที่ 24 สิงหาคม 2558 ที่ศาลาประชาคมศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกตามยุทธศาสตร์การผังเมือง “พิษณุโลก 2563 เขตเศรษฐกิจการลงทุนเครื่องใหม่สี่แยกอินโดจีน”  ที่อบจ.พิษณุโลกดำเนินการจัดขึ้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง

0001

นายจักริน   เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า   การสัมมนาในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อความพร้อมในการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ตามวิสัยทัศน์พิษณุโลกเมืองบริการเศรษฐกิจและสังคมสี่แยกอินโดจีน   จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่มมือกัน  ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศของรัฐบาลมีการบรรจุแผนและโครงการต่างๆในภูมิภาคเหนือตอนล่าง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมหัวเมืองใหญ่ , โครงการรถไฟรางคู่ (กรุงเทพ-เชียงใหม่),โครงการรถไฟตามแนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (มุกดาหาร-ขอนแก่น-พิษณุโลก-แม่สอด),โครงการศูนย์กระจายสินค้า , การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน,นโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ,โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติ  เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับกับโครงการดังกล่าวซึ่ง จ.พิษณุโลก เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายการพัฒนา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกได้ดำเนินการจัดการสัมมนาและเปิดศูนย์บริการข้อมูลความพร้อมในการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ตามวิสัยทัศน์ พิษณุโลกเมืองบริการเศรษฐกิจและสังคมสี่แยกอินโดจีน  ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคิดร่วมกันพัฒนาจังหวัดไปสู่จุดหมายเดียวกัน

0003

สำหรับผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกได้ประกาศใช้วันที่ 25 มิถุนายน 2556  และประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก(ฉบับที่2) วันที่ 29 เมษายน 2558  และมีการดำเนินการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน  มีการจัดทำผังนโยบายการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกใหม่  เช่นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองและชุมชนในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ  การปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้มีความกระชับตามแนวทางของเมืองสีเขียว  ศูนย์การพัฒนาพื้นที่เขตชานเมือง  ศูนย์การพัฒนาพื้นที่เขตเมือง ศูนย์การพัฒนาพื้นที่เขตชานเมือง  ศูนย์การพัฒนาพื้นที่พานิชกรรมและโลจิสติกส์  ศูนย์การพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยและนวัตกรรม การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน   ศูนย์การจนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจังหวัดพิษณุโลก  โครงการพัฒนาเศรษฐกิจทางการเกษตร  โครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์  ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาพื้นที่ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม  การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ฯลฯ     แผนงานและโครงการต่างๆเพื่อความพร้อมในการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกตามยุทธศาสตร์การผังเมืองกับความพร้อมในการเป็นศูนย์เศรษฐกิจสี่แยกอินโดจีนปี 2563 สร้างกลยุทธ์การดึงดูดการลงทุนใหม่และการขยายการลงทุนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกรองรับความเจริญเติบโตของภูมิภาคประชาคมอาเซียน

0004

นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ กรรมการรองเลขาธิการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ  หอการค้าไทย กล่าวว่า    จังหวัดพิษณุโลกมีความก้าวหน้ามาก นับเป็นจังหวัดที่ 2 ของประเทศไทยที่มีการวางผังเมือง  ซึ่งการมีผังเมืองเนื่องจากอุบัติเหตุอัคคีภัย เมื่อปี พ.ศ.2500  ทำให้เมืองถูกเผาทั้งเมือง การสร้างเมืองใหม่จึงได้มีการวางผังเมืองใหม่ทั้งหมดด้วย  แต่กาลเวลาผ่านไป  จ.พิษณุโลก เติบโตเรื่อยๆ ผังเมืองเล็กเกินไป แม้ว่าจะมีการทบทวนการวางผังเมืองหลายครั้ง แต่ก็ไม่ทันการเจริญเติบโตการขยายของเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว  จึงมีการทบทวนผังเมืองทุก 5 ปี 10 ปี ด้วย

0008

นายวิโรจน์ ได้กล่าวว่า ภาคเอกชน ได้วางแผนเศรษฐกิจ ตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคเหนือ 2020 เป็นยุทธศาสตร์ที่เห็นพ้องกันในพื้นที่  17 จังหวัดภาคเหนือ คือ 1.การเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการค้า การลงทุน  การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ  เพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตอย่างสมดุล 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงโลจิสจิกส์  ระหว่างภูมิภาค และอนุภูมิภาค 3. พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาการศึกษา และสังคมให้มีคุณภาพ คุณธรรม หนุนนำความเข้มแข็งของชุมชนด้วยหลักธรรมภิบาล

0005

“ในพื้นที่ภาคเหนือปัจจุบันมี 5 เมืองหลักที่กำลังมีการพัฒนารวดเร็วแบบก้าวกระโดด  คือ เชียงใหม่  พิษณุโลก นครสวรรค์  เชียงราย และตาก  โดยเฉพาะการค้าชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก มีการขยายการค้าเติบโตมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2557 ประเทศไทยส่งสินค้าออกไปค้าขายในสหภาพเมียนมาร์ ทางด้ านด่านการค้าชายแดนแม่สอด 59,000 ล้านบาท  แต่ในช่วง5 เดือนแรกของปี  2558  มีตัวเลขการค้าสูงถึง 30,000 ล้านบาทแล้ว  จากการการที่สหภาพเมียนมาร์ได้เปิดเส้นทางหลวงในเดือน กรกฎาคม 2558 จะทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น ทางหอการค้าได้มีการคาดการว่าปีนี้เราน่าจะส่งออกสินค้าไปสหภาพเมียนมาร์ได้มูลค่าสูงกว่า 80,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากสหภาพเมียนมาร์มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกลการเกษตร  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิส์  เครื่องดื่ม จำนวนมาก   ”

 

นายวิโรจน์    กล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจรองรับ AEC ของภาคเหนือตอนล่างนั้น ควรมีการพัฒนาด้านการเกษตรปลอดภัยและมีมูลค่าสูง  เนื่องจากในอนาคตเราต้องทำการเกษตรแบบครบวงจรต้องเน้นกาแปรรูป เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เราต้องพัฒนาการวิจัยศึกษาการตลาดความต้องการวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเป้าหมายทางการค้า  ด้านการท่องเที่ยวก็สำคัญ ต้องยกระดับการท่องเที่ยวให้ได้ระดับนานาชาติ

0006

อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาครั้งนี้ ทาง จ.พิษณุโลก ยังได้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษสี่แยกอินโดจีนในอนาคต โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.เขตเศรษฐกิจพาณิชกรรม  ภายในศูนย์การพัฒนาพื้นที่ Development Center ประเภท Downtown  ,Urban Center และ Suburban Center  พื้นที่ใจกลางเมืองและย่านพาณิชยกรรมของจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบันมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน  โครงข่ายคมนาคม การสื่อสาร   โครงข่ายถนน สาธารณูปโภค  ระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบบริการสาธารณะ เป็นที่ตั้งศูนย์ราชการและศูนย์ธุรกิจเอกชนระดับภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นศูนย์ภาคธุรกิจการเงินและการค้าระหว่างประเทศ  พร้อมด้วยพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 600,000 ตารางเมตร และจะเพิ่มขึ้นอีก 400,000 ตารางเมตรในปี 2565  ภายหลังเปิดให้บริการของรถไฟความเร็วสูง พื้นที่ในศูนย์การพัฒนาเป็นศูนย์ที่มีอำนาจการซื้อและเป็นศูนย์รวมแหล่งงานที่มีคุณภาพของ จ.พิษณุโลก

0007

2.เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์  พัฒนาพื้นที่ประเภท  Commercial  and Logistics Center  ทั้ง 3 แห่ง ทั้งศูนย์บึงพระซึ่งเป็น Regional  Logistics Hub ศูนย์โลจิสติกส์เต็งหนาม และศูนย์โลจิสติกส์สี่แยกอินโดจีน  ศูนย์ทั้ง3แห่งมีศักยภาพในการให้บริการติดต่อการค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศ   การขนส่งและการกระจายสินค้า จุดตรวจและปล่อยสินค้าทั้งทางอากาศ ทางถนนและทางรถไฟ   3. เขตอุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารและเกษตรจังหวัดพิษณุโลก  มีที่ตั้งภายในศูนย์การพัฒนาพื้นที่ พาณิชยกรรมและโลจิสติกส์บึงพระ กำหนดพื้นที่พัฒนาไว้จำนวน 3,000ไร่ 4.เขตนวัตกรรมการผลิตและการวิจัยและพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก มีที่ตั้งภายในศูนย์การพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยและนวัตกรรมหรือพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยพิษณุโลก หรือมีพื้นที่พัฒนาจำนวน  2,000 ไร่  5.เขตอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วยพื้นที่ 2 บริเวณ ได้แก่ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมหัวรอ มีพื้นที่ 800 ไร่ และเขตอุตสาหกรรมวังน้ำคู้ มีพื้นที่  800 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมทุกประเภท ยกเว้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี   อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมตามประกาศควบคุมอุตสาหกรรมอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรม

 

นับว่าการขับเคลื่อนการพัฒนา จ.พิษณุโลก ตามยุทธศาสตร์การผังเมือง กับความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน ปี 2563  เป็นการสร้างกลยุทธ ดึงดูดการลงทุนใหม่ และขยายการลงทุนในพื้นที่ผังเมืองรองรับความเจริญเติบโต  ลดการกระจัดกระจายของเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เป็นการใช้พื้นที่ตามประกาศกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกได้อย่างเหมาะสมต่อไป

แสดงความคิดเห็น