วันที่ 11 ส.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการ Green University “มหาวิทยาลัยสีเขียว” หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ประกาศดำเนินในโครงการ Green University ไปก่อนหน้านี้ และเริ่มทดลองโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา โดยห้ามใช้รถจักรยานยนต์ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. นั้น เพื่อช่วยลดมลพิษและลดโลกร้อน แต่ก็ยังมีนิสิตอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย จากเหตุผลต่างๆ เช่น ทำให้การเดินทางไปเรียนล่าช้าลง ในช่วงหน้าฝนจะลำบากมาก ชุดที่นิสิตผู้หญิงใส่เป็นกระโปรงทรงเอ ทรงสอบรัดรูป ไม่เหมาะสมกับการปั่นรถจักรยาน ฯลฯ ขณะที่รถไฟฟ้าก็มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการ หากต้องรอขึ้นรถจะเป็นการล่าช้า หากจะต้องย้ายอาคารเรียนไปยังจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย
ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายลดอุบัติเหตุ ส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ได้มีการทดลองระบบจำกัดการใช้รถจักรยานยนต์เฟส 1 ซึ่งจำกัดเวลาใช้จักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณ Green Campus Zone ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยเริ่มทดลองใช้ระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา และมีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากนิติและบุคลากรให้ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว แต่ยังมิได้มีการออกกฎหรือคำสั่งใด ๆ ประกาศใช้มาตรการภาคบังคับ
การที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้พนักงานรักษาความปลอดภัย ห้ามไม่ให้นิสิต บุคลากรและบุคคลภายนอก ที่ประสงค์และมีความจำเป็นต้องใช้ มีการวิทยุสกัดจับบุคคลที่ใช้จักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัย การที่นิสิตปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือย่อมไม่มีความผิดในทางวินัยนิสิตตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวรว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2547 ที่ว่านิสิตต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่ง เพราะการทำโครงการนี้เป็นเพียงบันทึกขอความร่วมมือ ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และมาตรการของมหาวิทยาลัยจะมีผลบังคับใช้สู่บุคคลภายนอกต่อเมื่อเป็นกฎเท่านั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดโอกาสให้นิสิต บุคลากรและบุคคลภายนอกเลือกว่า จะให้ความร่วมมือต่อการทดลองใช้นโยบายนี้หรือไม่
สำหรับในวันนี้ 11 ส.ค. 58 เป็นวันเปิดภาคเรียนวันที่ 2 โดยบรรยากาศรอบมหาวิทยาลัยมีความวุ่นวายเล็กน้อย เพราะนิสิตส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทัน ต้องรีบเร่งเดินทางไปเรียนตามคณะต่างๆ โดยนักศึกษาต้องนำรถจักรยานยนต์มาจอดไว้บริเวณจุดต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้ให้ ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่ได้ทำการปรับพฤติกรรมโดยรวม โดยเลือกที่จะเดินทางมาเรียนให้เร็วขึ้น เพราะปัญหาที่พบว่ารถจักยานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางส่วนที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้า ก็ต้องใช้เวลาการรอนานเป็นพิเศษ
ด้าน น.ศ.มธุรส ลิ้มพิบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสหเวชศาสตร์ เปิดเผยว่า ตนเองพึ่งมาเรียนวันนี้วันแรก ต้องปรับตัวมาเป็นพิเศษเพราะต้องขับรถจักรยานยนต์มาจอดไว้ที่บริเวณที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ และต้องมารอรถไฟฟ้าเป็นเวลานานมาก สำหรับปัญหาของตนเองซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงนั้น จะให้ไปปั่นรถจักรยานก็ลำบาก อยากให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้นิสิตต้องรอรถนานเกินไป เพราะอาจจะเข้าห้องเรียนไม่ทันอาจารย์ผู้สอนเช็คชื่อ หรืออาจโดนหักคะแนน เป็นต้น
ส่วน นายวิวรรธม์ พัฒนาเกษม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ตนเองเห็นด้วยกับโครงการของมหาวิทยาลัย หรือ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” เพื่อเป็นการลดโลกร้อน แต่น่าจะมีการเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้ เพราะบรรยากาศรอบมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นต้นไม้น้อยไปหน่อย ทำให้อากาศค่อนข้างร้อน โดยตนเองต้องปรับตัวนิดหน่อยในการมาเรียนและการรอรถไฟฟ้า
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.อนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ รองอธิการมหาวิทยาลัยนเรศวร ฝ่ายกิจการนิสิต กล่าวว่า หลังจากทางมหาวิทยาลัยเปิดเรียนวันแรกนั้น ก็มีปัญหานิดหน่อยเพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทัน กับการงดใช้รถจักรยายนต์ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร สำหรับโครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการช่วยเรื่องลดอุบัติเหตุภายในมหาวิทยาลัย ที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งที่ส่วนใหญ่เกิดจากการขี่รถจักรยานยนต์ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นทางมหาวิทยาลัยอยากให้นักศึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้มาก พร้อมว่างแผนเรื่องเวลาเรียน การเดินทางไปเรียนตามตึกเรียนคณะต่างๆ รอบๆ มหาวิทยาลัย บางครั้งใช้การเดินเส้นทางลัดแทนปั่นรถจักรยานจะใกล้กว่ามาก
ส่วนปัญหาที่นิสิตผู้หญิงสวมกระโปรงไม่สามารถปั่นรถจักรยานได้นั้น ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำเรื่องประกาศ “การอนุโลมให้นิสิตหญิงขั้นปริญญาตรี สวมกางเกงแทนกระโปรงเพื่อเข้าชั้นเรียน” แต่การแต่งกายนั้นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สวมกางเกงทรงสุภาพไม่รัดรูป ความยาวเสมอข้อเท้า สีเทาเข้ม สีดำ หรือสีกรมท่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีลวดลาย มีหูสำหรับสอดเข็มขัด
ด้าน นายสิรวิชญ์ วิศิษฎ์ยิ่งเจริญ ประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สำหรับโครงการ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” เป็นโครงการที่ลดลดโลกร้อน แต่ที่นิสิตออกมาต่อต้านในช่วงแรกนั้น เป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ร่วมถึงประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยที่ต้องเข้ามาติดต่อภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะประชาชนที่เข้ามาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และปัญหาที่พบเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่นักศึกษาไม่สามารถนำรถจักรยานยนต์เข้ามาได้ ก็ไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารข้างนอกได้ ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรับประทานอาหารภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งพบปัญหาว่าอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องหาร อยากให้ทางมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนการบังคับใช้ เป็นการรณรงค์การใช้จักรยานมากกว่า ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่ายอีกด้วย
ทั้งนี้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรผู้เกี่ยวข้อง ที่ดำเนินโครงการ Green University “มหาวิทยาลัยสีเขียว” จะได้นำข้อเสนอแนะหรือปัญหาเสียงสะท้อนของนิสิตที่เกิดขึ้น มาปรับปรุงดำเนินการแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นต่อไป.
………………………………………………………………………………………………………………