นร.สืบสานงานทอผ้าภูมิปัญญาชาวบ้าน การทอผ้าไทย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่บ่งบอกถึงงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ นับวันจะหลงเหลืออยู่น้อยเต็มที่ งานด้านการอนุรักษ์เพื่อสืบสานให้ศิลปวัฒนธรรมล้ำค่านี้คงอยู่สืบไป จึงเป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่ต้องสานต่อ ก่อนที่จะเหลือไว้เพียงตำนาน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ก้าวไปกับเทคโนโลยี จนทอดทิ้งงานฝีมือพื้นบ้าน โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) อ.วังทอง จ.พิษณุโลก โดยการนำของ นางสาวรสสุคนธ์ อินชัยเขา ผู้อำนวยการโรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองขึ้นมา เพื่อต้องการให้นักเรียนที่สนใจ ได้เรียนรู้วิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมและยังมีงานอาชีพติดตัว โดยประสาน นางทุเรียน พลโยธา ปราชญ์ชาวบ้าน มาเป็นวิทยากรให้นักเรียน ได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการ ปั่นด้าย ก่อนนำมาผูกผ้าให้เป็นลวดลายต่าง แล้วนำไปย้อมสีและทำมาทอด้วยกี่หรือหูกพื้นบ้าน ตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อได้ผืนผ้าออกมาเป็นลวดลายสวยงามตามที่ต้องการ สำหรับการทอผ้ามัดหมี่ ทอด้วยกี่กระตุก ของทางโรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม ได้ใช้วัสดุที่ใช้เป็นด้ายสำเร็จรูปหรือไหมประดิษฐ์ย้อมด้วยสีเคมีตามเอกลักษณ์ลวดลายผ้าที่สำคัญ คือ ลวดลายดอกปีบ ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก ส่วนลวดลายดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาของพื้นบ้าน อันได้แก่ ลายสายฝน ลายข้าวหลามตัดใหญ่ ลายดาวกระจาย ทางปราชญ์ชาวบ้าน ก็ได้สอนให้นักเรียนได้ทอออกมาได้อย่างสวยงามเช่นกัน น.ส.เบญญาภา กริชนอก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า “การที่ได้มาอยู่ฐานการเรียนรู้ เรื่องการทอผ้า เป็นเพราะตนเองและเพื่อน ๆ สนใจงานอาชีพทางด้านนี้ เมื่อมาเรียนกับวิทยากรของหมู่บ้าน ทำให้ได้ความรู้ด้านการทอผ้า การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่กำลังจะสูญหายไป ทำให้เรามีสมาธิในการเรียน มีความตั้งใจในการทำงาน และ สามารถสร้างอาชีพเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกด้วย ในช่วงแรก ๆ ก็ยาก เพราะเราไม่เคยทำ แต่ก็มีเพื่อน ๆ นักเรียนด้วยกัน ที่มาจาก บ้านม่วงหอม กลุ่มหมู่บ้านทอผ้า ที่เพื่อนได้ช่วยผู้ปกครองทำกันอยู่แล้วมาช่วยสอน ทำให้เราสามารถทำได้ค่ะ” ทั้งนี้ นางสาวรสสุคนธ์ อินชัยเขา ผู้อำนวยการโรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า “การทอผ้าม่วงหอม เป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้ 3 โครงการ เดินตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง ของโรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม เราอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน จาก บ้านม่วงหอม ต.ทรัพย์ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทอผ้าพื้นเมืองอยู่แล้ว มีชาวบ้านที่มีความรู้และการทอผ้าในหมู่บ้าน มาเป็นวิทยากรสอนให้กับนักเรียน นอกจากนี้โรงเรียน ยังได้นำเข้ามาเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้ บรรจุในหลักสูต วิชาเศรษฐกิจพอเพียง เรียนในทุกวันอังคาร ผลตอบรับนั้น ปรากฏว่า มีเด็ก ๆ นักเรียนทั้งชายและหญิง ให้ความสนใจมาเรียนจำนวนมาก ทั้งยังเกิดภาคภูมิใจ ในการร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สามารถต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต” นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ จากฐานการเรียนรู้ของ โรงเรียนทรัพย์ไพรวัลย์วิทยาคม อันเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นจุดเด่น จนเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้หมู่บ้านม่วงหอมมีชื่อเสียง ที่มีผ้าทอที่ทำมามีลวดลายสวยงาม การทอผ้ามัดหมี่ ทอด้วยกี่กระตุก จึงถือว่าเป็นการพัฒนาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สาบสูญไปตามกาลเวลา และ ยังเปลี่ยนเวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สำหรับเด็กนักเรียนได้อีกด้วย.