วันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัววีดิทัศน์ ชุด 25 ปี นเรศวร มหาวิทยาลัยดี สังคมดี DNA NARESUAN และหนังสั้น mornor only ที่นี่มีแต่ความสุข ผลงานนิสิต จากการประกวดคลิปวิดีโอเรื่องดี ๆ ความภูมิใจกับการนำเสนอความสำเร็จ เหล่าศิษย์เก่าและบุคลากรผู้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม พร้อมเปิดตัวผลงานวิจัย นวัตกรรมไทย ไปนวัตกรรมโลก เครื่องแกงไทยอบ ครบรสครบกลิ่น และ ผลงาน ผลิตภัณฑ์แก้เผ็ด ลดความเผ็ดร้อน (Spicy aid) จากอาหารไทยที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พิษณุโลก
การจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ ได้เปิดตัวงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอบแห้งพร้อมปรุง” Dried Culinary Herb (Gourmet Herb) และ“ผลิตภัณฑ์แก้เผ็ด” (spicy aid) ในรูปแบบหมากฝรั่ง โดยนักวิจัยดร.จาเรีย อาบู-อาลี และ ผศ.ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ จาก สถานที่ปรึกษาอุตสาหกรรมอาหารภูมิภาคอาเซียน-อเมริกา (AAIF) และคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของอาหารไทยที่นับวันจะมีชื่อเสียงด้านรสชาติ ความอร่อยที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ กล่าวว่า อาหารไทยจัดเป็นอาหารกลุ่มที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป เป็นต้น เนื่องมาจากอาหารไทยนั้นมีการคัดสรรวัตถุดิบที่ดี และนำมาปรุงส่วนประกอบทุกอย่างให้เข้ากันอย่างลงตัว จึงมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค การส่งออกวัตถุดิบจึงเป็นปัญหาหลักในการส่งออกวัตถุดิบประกอบอาหารไทย โดยเฉพาะจำพวกสมุนไพรประกอบอาหาร (culinary herb) ที่มีการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเก็บรักษาในสภาพใบสดได้นาน มีสภาพบอบบางตามธรรมชาติ ไม่ทนต่อสภาวะภูมิอากาศ ลักษณะใบสดจะเหี่ยวง่าย จึงมีอายุการเก็บรักษาสั้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งและการส่งออกสมุนไพรดังกล่าวในสภาพสดสู่ตลาดต่างประเทศ ทำให้มักถูกแปรรูปด้วยการอบแห้ง หรือถนอมอาหารในสภาพอื่น เช่น การผัดน้ำมันผสมพริกบรรจุขวด ซึ่งการแปรรูปในลักษณะดังกล่าวแม้จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาสมุนไพรประกอบอาหารได้นาน แต่ก็ทำให้มูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรต่ำลง โดยการทำแห้งนั้น ส่งผลลบต่อการเสื่อมคุณภาพคุณภาพทางประสาทสัมผัสของสมุนไพรกลุ่มนี้ในทุก ๆ คุณลักษณะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียกลิ่นรสที่สำคัญ รวมถึงการเสื่อมคุณค่าทางโภชนาการ และสีที่เปลี่ยนไปของสมุนไพรแห้งตามเวลาการอบแห้ง เนื่องจากน้ำมันหอมและสารระเหยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อกลิ่นหอมและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพรประกอบดังกล่าวนั้น เป็นสารประกอบที่เสื่อมสภาพและสูญเสียไปได้ง่ายจากการแปรรูปโดยใช้ความร้อน
คณะเกษตรศาสตร์ ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนากระบวนการถนอมผลิตภัณฑ์ขั้นต้น (pretreatment) ปรับปรุงกรรมวิธีการอบแห้ง และสภาวะที่เหมาะสมในการยืดอายุการเก็บรักษาสมุนไพรอบแห้งดังกล่าวให้มีคุณภาพดีโดยการห่อหุ้มด้วยฟิล์มบริโภคได้ (edible film) และบรรจุแบบสุญญากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สี เนื้อสัมผัส และสารหอมระเหยของสมุนไพรและคุณภาพทางประสาทสัมผัสของสมุนไพรประกอบอาหารกลุ่มนี้ อันจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดและสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรอบแห้งสำหรับประกอบอาหารที่ได้พัฒนาขึ้นขณะนี้มีทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่ ใบมะกรูด กระเพรา โหระพา ตะไคร้ ข่า ขิง สาระแหน่ ต้นหอม ผักชี หอมแดง ยี่หร่า นอกจากนี้ยังชุดสมุนไพรประกอบอาหารอบแห้งพร้อมปรุง ได้แก่ ชุดต้มยำ ชุดลาบ และชุดต้มข่า เป็นต้น