เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก นายกฤติชัย ธรรมสอน นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตามที่ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากฝนยังไม่ตกตามฤดู ส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรไร่ของประชาชนได้รับความเดือนร้อนจากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ประกอบกับในปีนี้มีการปรับปฏิทินการจ่ายน้ำเข้าช่วยพื้นที่ทางการเกษตรให้เร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน เมษายน ที่ผ่านมา จึงทำให้ระดับน้ำในเขื่อนหลักอย่างเช่น เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนแควน้ำบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาก จึงต้องเร่งทำฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเติมน้ำเข้าเขื่อนอย่างเร่งด่วน
นายกฤติชัย ธรรมสอน นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก กล่าวต่อว่าภารกิจในการขึ้นทำฝนหลวงในวันนี้ พื้นที่เป้าหมายคือช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตรภาคเหนือตอนล่างทั้งหมด และจากการตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงเช้าพบว่าในวันนี้สภาพอากาศมีความเหมาะสมจึงได้ขึ้นบินทำฝนหลวงตามคำร้องขอทันที
ถึงแม้ว่าในระยะนี้แม้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอต่อประชาชนที่มีอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะที่พบมีปัญหามากที่ จ.เพชรบูรณ์ จ.ตาก บางอำเภอ และที่ จ.พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ทั้งจังหวัด ซึ่งในวันนี้ได้เตรียมเครื่องบินรุ่น คาราแวน บรรทุกสารโซเดียมคลอไรด์ น้ำหนัก 800 กิโลกรัม ขึ้นบินในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนเครื่องบินรุ่นคาซ่า บรรทุกสาร โซเดียมคลอไรด์ น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ขึ้นบินในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยบินในลักษณะวางแกนกลั่นตัวสร้างเม็ดน้ำให้เป็นเมฆ จากนั้นจะคอยตรวจสอบสภาพอากาศว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน หากมีการเกิดเม็ดฝนเกาะกลุ่มกัน ก็จะขึ้นบินเพื่อนำสารแคลเซียมอ๊อกไซค์ ไปเลี้ยงให้เมฆอ้วน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 และหากอ้วนแล้ว จะนำขึ้นจู่โจมเม็ดฝนในกระบวนการที่ 3 และที่ 4 ต่อไป โดยวันหนึ่งจะขึ้นบินประมาณ 9-12 เที่ยว
และนอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่จะนำเครื่อง ทำฝนหลวงมาช่วยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอีกจำนวน 2 ลำ เพื่อเร่งออกปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรกำลังประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และเร่งเติมน้ำเข้าเขื่อนเพื่อรักษาสมดุลของเขื่อนอย่างเร่งด่วนต่อไป……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..