ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้มีกลุ่มนิสิตที่ได้รับความเดือดร้อน หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ประกาศดำเนินในโครงการ Green University ไปก่อนหน้านี้และเริ่มทดลองโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา โดยห้ามใช้รถจักรยานยนต์ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. นั้น ต่างก็มีเสียงจากนิสิตในมหาวิทยาลัยทั้งเห็นด้วยเพื่อช่วยลดมลพิษ และลดโลกร้อน แต่ก็ยังมีนิสิตอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลเช่น ทำให้การเดินทางไปเรียนช้าลง, ในช่วงหน้าฝนจะลำบากมาก,,ชุดที่นิสิตผู้หญิงใส่เป็นกระโปรงทรงเอ ทรงสอบรัดรูป ไม่เหมาะสมกับการปั่นรถจักรยาน, ขณะที่รถไฟฟ้าก็มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ หากต้องรอขึ้นรถและเป็นการล่าช้าหากจะต้องย้ายอาคารเรียนไปยังจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯลฯ
หลังจากผ่านโครงการ Green University มาได้ 8 วัน เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่พักอาศัยรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการใช้นโยบายห้ามรถจยย.วิ่งภายในมหาวิทยาลัย ระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น. ทำให้ได้มีนิสิต และบรรดาพ่อค้า-แม่ค้า ภายในมหาวิทยาลัยเดินที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 200 คน เดินมารวมกลุ่มกันที่บริเวณลานกิจกรรมเพื่อแสดงความเดือดร้อนของแต่ละฝ่ายหลังจกนั้นได้พากันเดินเท้าไปบริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี อาคารมิ่งขวัญ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดยมี ผศ.ดร.มนุพัฒน์ โลหิตนาวี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เป็นผู้รับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวไว้ท่ามกลางการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของ พ.ต.ท.นนทวร สีอินทร์ รอง ผกก.(ป.) สภ.เมืองพิษณุโลก พร้อมด้วย พ.ต.ท.ปริญญา ทองมา สวป.หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรชุมชนมหาวิทยาลัยนเรศวร และกำลังจำนวนหนึ่ง
โดยหลังจาก ผศ.ดร.มนุพัฒน์ โลหิตนาวี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ รับจดหมายเปิดผนึกไว้เรียบร้อยแล้ว ได้แจ้งให้กลุ่มนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมทราบว่า “จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของผู้บริหารเพื่อปรึกษาหารือกัน โดยจะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายใน 7 วัน” กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมจึงพากันแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น
“จดหมายเปิดผนึกจากนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 เรื่อง ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการทดลองระบบเฟส 1 จำกัดเวลาใช้รถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีใจความสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายลดอุบัติเหตุ ส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ได้มีการทดลองระบบจำกัดการใช้รถจักรยานยนต์เฟส 1 ซึ่งจำกัดเวลาใช้จักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณ Green Campus Zone ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยเริ่มทดลองใช้ระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา และมีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากนิติและบุคลากรให้ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว แต่ยังมิได้มีการออกกฎหรือคำสั่งใด ๆ ประกาศใช้มาตรการภาคบังคับ
การที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้พนักงานรักษาความปลอดภัย ห้ามไม่ให้นิสิต บุคลากรและบุคคลภายนอก ที่ประสงค์และมีความจำเป็นต้องใช้ มีการวิทยุสกัดจับบุคคลที่ใช้จักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัย การที่นิสิตปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือย่อมไม่มีความผิดในทางวินัยนิสิตตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวรว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2547 ที่ว่านิสิตต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือคำสั่ง เพราะการทำโครงการนี้เป็นเพียงบันทึกขอความร่วมมือ ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และมาตรการของมหาวิทยาลัยจะมีผลบังคับใช้สู่บุคคลภายนอกต่อเมื่อเป็นกฏเท่านั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดโอกาสให้นิสิต บุคลากรและบุคคลภายนอกเลือกว่า จะให้ความร่วมมือต่อการทดลองใช้นโยบายนี้หรือไม่
การกระทำดังกล่าวของมหาวิทยาลัยเป็นการกระทำลงไปโดยไม่มีอำนาจ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะยังมีกฎหมายใดให้อำนาจทางมหาวิทยาลัยให้ทำได้ และการทดลองใช้นโยบายนี้ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย ต่อนิสิต บุคลากร บุคคลภายนอก ผู้ประกอบการร้านค้ารอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงขอเสนอแนะว่า ควรเปลี่ยนจากการยกเลิกการปั่นจักรยานมาเป็น ปลูกต้นไม้แทนการสร้างตึก ลดการเปิดแอร์จากปกติ
ควรจัดสรรพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับใช้โครงการ ค่อย ๆ ปรับปรุง แก้ไขจากการใช้นโยบายจริงและจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้ามหาวิทยาลัยจะออกนโยบายที่มีผลกระทบหรือมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน ควรสอบถามความคิดเห็นของประชาชนหรือควรคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมหาวิทยาลัยและชุมชนควรอยู่ด้วยกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลถึงประชาชน เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะทำให้มีการรับรู้ข่าวสารและแนวปฏิบัติอย่างถูกต้อง ควรมีกระประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงประชาชนผู้รับข่าวสารและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด”
โดยหลังจาก ผศ.ดร.มนุพัฒน์ โลหิตนาวี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ รับจดหมายเปิดผนึกไว้เรียบร้อยแล้ว ได้แจ้งให้กลุ่มนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมทราบว่า จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของผู้บริหารเพื่อปรึกษาหารือกัน โดยจะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายใน 7 วัน กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมจึงพากันแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น
—————————————————————————————————————————–