นักเรียนมัธยมพิษณุโลกสนใจเรียนเกษตรได้วุฒิ ปวช.เพิ่ม

11715113_1018294274869696_1183181492_oตามที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะให้มีการจัดการศึกษาหลักสูตรเรียนร่วมอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลายควบคู่กันไป โรงเรียนชาติตระการวิทยา อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในโรงเรียนที่จัดหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ทวิศึกษา ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นการศึกษาปี 2558 ที่มีพื้นที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองพิษณุโลก กว่า 120 กิโลเมตร อีกทั้ง โรงเรียนยังมีพื้นที่มากถึง 70 ไร่ ทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำการเกษตร และ นักเรียนส่วนใหญ่ ผู้ปกครองมีอาชีพทำไร่นา ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว โดยทางโรงเรียนได้แบ่งพื้นที่ในการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกข้าว ปลูกมะนาว มะละกอ และ ทำโรงเรือน เลี้ยงหมูหลุม โรงเรือนเพาะเห็ด แปลงปลูกผักกางมุ้ง เป็นต้น โดยมีนักเรียนที่สนใจและสมัครใจเข้าเรียนรู้เป็นจำนวนมาก11651148_1018294404869683_1835744644_n

ทั้งนี้ นายเสน่ห์ เทศนา ผู้อำนวยการโรงเรียนชาติตระการวิทยา ได้กล่าวว่า “โรงเรียนชาติตระการวิทยา เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เข้าร่วมโครงการทวิศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนชาติตระการวิทยา และ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ได้ส่งอาจารย์มาสอนให้กับทางโรงเรียน อันเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เล็งเห็นว่า บริบทของชุมชน เป็นชนบท อยู่ห่างไกล มีพื้นที่เป็นภูเขาสูง อาชีพส่วนใหญ่เป็นอาชีพเกษตรกรรม เด็กนักเรียนในพื้นที่ก็ควรจะได้รับการพัฒนาในเรื่องการเกษตรด้วย เพื่อนักเรียนในกลุ่มที่อาจไม่ได้รับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จะได้มีความรู้และมีอาชีพติดตัว เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ได้รับประสบการณ์ สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพในอนาคตได้” สำหรับการจัดการเรียนแบบทวิศึกษามีความสำคัญและเป็นประโยชน์แก่นักเรียน หลังจากจบการศึกษาจะได้ รับวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ วุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 จากทางโรงเรียน และ ยังได้รับวุฒิ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เป็นวิชาชีพที่สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อได้ในอนาคต11720404_1018294324869691_273229144_o

ด้าน นางสาวกัญญารัตน์ คำมา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็น 1 ใน 27 นักเรียน ที่ได้เข้าเรียนในโครงการนี้ พูดถึงโครงการดังกล่าวให้ฟังว่า “ ตนเองมีหน้าที่ปลูกพืชผักสวนครัว ตามที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำวิชาเกษตรกรรม ถ้ามีเวลาก็มานั่งแยกเมล็ดพันธ์ข้าวกับเพื่อน ๆ และ เรียนในหลักสูตรทางวิชาการ ส่วนตัวแล้ว นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด เพราะถ้าหนูจบการสายสามัญ ถ้าไม่ได้เรียนต่อจะหางานทำได้ยาก แต่เรียนแบบนี้ก็ทำให้เรามีวิชาชีพติดตัวไปในอนาคต”1612745_1018294361536354_5325910_o

นายมงคล สุขตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เล่าว่า “ผมได้ความรู้จากการทำงาน ได้ฝึกความสามารถของตัวเอง ซึ่งได้ทำหน้าที่ในการตอนกิ่งมะนาว ให้อาหารกบ อาหารปลา ที่เลี้ยงไว้ วิชาเกษตรที่เรียน สามารถนำไปประกอบอาชีพให้แก่ตนเองและสามารถนำไปสอนคนอื่นได้ด้วย”11721158_1018294384869685_1519055542_n

โครงการ ทวิศึกษา นับเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนร่วม ที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องการติดอาวุธความรู้ทางสายอาชีพให้กับนักเรียนสายสามัญ ได้รับประกาศนียบัตรทั้งสองสาย จบการศึกษาภายใน 3 ปี ได้รับ 2 วุฒิการศึกษา และ 2 ประสบการณ์ ทั้งสายสามัญและวิชาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพ หรือ เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการทวิศึกษาอยู่แล้ว แต่จะมีการขยายโครงการให้มากขึ้น เนื่องจากมีนักเรียนสนใจสมัครโครงการดังกล่าวมากเกินความคาดหมาย ถือว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เพราะนักเรียนได้เห็นความสำคัญ และ ความจำเป็นของการมีอาชีพติดตัวเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตให้กับตัวเองได้ในอนาคต11724656_1018294388203018_1972264759_o

ดร.กิตติพงศ์ พิพัฒน์ศิวพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นทีการศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) ได้ขานรับนโยบายหลักสูตรเรียนร่วมดังกล่าว จากโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 57 โรงเรียน ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้มีการจัดการศึกษาเรียนร่วม “หลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย(ทวิศึกษา)” จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนาบัววิทยา โรงเรียนนครบางยางพิทยา โรงเรียนนครไทย โรงเรียนยางโกลนวิทยา โรงเรียนชาติตระการวิทยาและโรงเรียนวังโพรงวิทยา การจัดการศึกษา “หลักสูตรระยะสั้น” จำนวน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนนครชุมพิทยาฯ โรงเรียนบ่อโพธิ์วิทยา โรงเรียนนาบัววิทยา และจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ โรงเรียนลับแลพิทยาคม โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อาทิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย วิทยาลัยการอาชีพนครไทย วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก วิทยาลัยการอาชีพชนแดน เป็นต้น.

—————————————————

วรางคณา  อนันตะ / รายงาน

นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สพม.39

แสดงความคิดเห็น