กรมชลประทาน และชาวพรหมพิราม ร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขึ้นประดิษฐานในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ เพื่อส่งเสริมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพิษณุโลก ส่วนการระบายน้ำของเขื่อนนเรศวรมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร สำนักชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก นับเป็นปีที่ 33 แล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเขื่อนนเรศวร เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2525 เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระราชทานนามเขื่อนนี้ว่า เขื่อนนเรศวร กรมชลประทานจึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น พร้อมสร้างเป็นอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ ดำเนินการก่อสร้างเป็นลักษณะของพระบรมรูปที่อยู่ท่ามกลางสวนไม้มงคล มีสระน้ำล้อมรอบ สงบ ร่มเย็น พระบรมราชานุเสาวรีย์นี้ทรงประทับยืน ทรงพระภูษาศิลปะอยุธยา พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ สูง 270 เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะสำริด ควบคุมการหล่อโดยช่างจากกรมศิลปากร โดยได้ยึดถือเอาฤกษ์วันดี วันที่ 8 แรม 8 ค่ำ เดือน 8 วันนี้ หม่อมหลวง อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและอัญเชิญพระบรมราชานุเสาวรีย์ ขึ้นประดิษฐานยังแท่นฐาน โดยอุทยานมหาราชานุสรณ์ได้สำเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มาสักการะ พักผ่อนหย่อนใจบริเวณรอบเขื่อนนเรศวร และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
เขื่อนนเรศวร อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นเขื่อนทดน้ำ กั้นลำน้ำน่าน และรอรับน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนสิริกิตต์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่วันนี้ยังระบายน้ำลงมาคงที่ระดับ 17 ล้านลูกบากศ์เมตรต่อวัน นาย ประพนธ์ คำไทย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร กล่าวว่า ขณะนี้ทางเขื่อนนเรศวรได้เปิดบานประตูเขื่อนครบทั้งหมด โดยปล่อยน้ำลงหน้าเขื่อน 137.5 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที และเพื่อใช้กับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีก 5 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที แต่ยังคงรักษาระดับน้ำหลังเขื่อนไว้ที่ 46.50 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 6 กรกฏาคมเป็นต้นมา โดยลดลงจากเดิม 0.30 ซึ่งหมายถึงการปล่อยน้ำหน้าเขื่อนเพิ่มขึ้น เพื่อส่งน้ำไปช่วยแก้ปัญหาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นการเฉพาะหน้า ในช่วงที่มีปัญหา และจะมีปรับการส่งน้ำอย่างไรขึ้นอยู่กับคำสั่งจากกรมชลประทานเป็นหลัก