วันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่พระราชวังจันทน์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก บริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นที่ทำการของสำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก ขณะนี้ สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กำลังดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณนี้ หลังจากสำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 11 ได้ย้ายที่ทำการและรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเกือบทั้งหมดออกไป ( ยกเว้นอาคารที่ทำการไม้เก่าแก่ 2 สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังบริเวณด้านหน้าที่จะอนุรักษ์ไว้ )
นายวิวัฒน์ พรหมชาลี นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย เปิดเผยว่า หลังจากได้ย้ายสำนักงานบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 11 ออกไปแล้ว กรมศิลปากร ได้ประชุมร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ อ.เมืองพิษณุโลก ที่ช่วงปลายปี 2558 นี้ ได้เตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ซึ่งในส่วนของพื้นที่สำนักงานป่าไม้เดิมจะมีการเตรียมการปรับพื้นที่ ส่วนหนึ่งจะเป็นสถานที่จอดรถ และมีข้อสรุปว่า ควรเริ่มขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ก่อน สำนักศิลปากรที่ 6 จึงเร่งดำเนินการขุดแต่ทางโบราณคดีขึ้นมา ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ 12 ธค.57-9กย.58 ในงบประมาณ 4,481,000 บาท
และจากการขุดสำรวจที่ผ่านมา พบแนวกำแพงโบราณ เป็นแนวกำแพงแก้วของวัดวิหารทอง ที่อยู่ในบริเวณนี้ คล้ายกับแนวกำแพงที่สำรวจพบบริเวณเขตพระราชฐาน ในบริเวณศาลสมเด็จพระนเรศวร แต่ในบริเวณนี้ทั้งหมดเป็นส่วนของวัดวิหารทอง ที่อยู่ในกลุ่มโบราณสถานสำคัญของพระราชวังจันทน์ร่วมกับวัดโพธิ์ทอง วัดศรีสุคต และยังพบแนวทางเดินเชื่อมระหว่างวัดวิหารทองไปยังแม่น้ำน่าน บริเวณด้านหลังเจดีย์ที่เคยเป็นถนน พบท่อระบายน้ำโบราณจุดหนึ่ง น่าจะระบายน้ำออกจากวัดวิหารทอง ขณะนี้ จะเริ่มขุดค้นไปเรื่อย ๆ ตามแนวที่พบ พบหลักฐานเพิ่มเติมก็จะทำการบูรณะ เช่น ขณะนี้กำลังบูรณะในส่วนของฐานเจดีย์ ที่ขุดพบบริเวณที่เคยเป็นบ้านพักของรองผวจ.พิษณุโลก
วัดวิหารทอง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เล็กน้อย เป็นวัดขนาดใหญ่อีกวัดหนึ่ง ที่สร้างอยู่ใกล้กับพระราชวัง (พระราชวังจันทน์) สภาพที่คงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน คือ พระวิหารและพระเจดีย์ บ่งบอกให้เห็นว่าในอดีต วัดวิหารทองเป็นวัดใหญ่ และมีความสำคัญกับบ้านเมืองในยุคสมัยที่มีการสร้างเมืองสองแคว ความสำคัญของวัดนี้อยู่ที่ว่า เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ซึ่งต่างจากพระอัฏฐารสของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) เพราะเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ นับเป็นพระพุทธรูปยืนที่สูงใหญ่ ที่หล่อขึ้นในยุคสมัยสุโขทัยเพียงองค์เดียวของประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 3 เห็นจะเป็นเพราะด้วยวิหารหักพังทรุดโทรมไปมากแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้อัญเชิญพระอัฏฐารสที่อยู่ในวิหารวัดวิหารทองลงมากรุงเทพฯ ทรงสร้างวิหาร ประดิษฐานไว้ที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ.2368 ถึงรัชกาลที่ 4 จึงทรงเฉลิมพระนามพระอัฏฐารสองค์นี้ว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร จนถึงเดือนมีนาคมพ.ศ.2556 คณะกรรมการและคณะทำงานการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์และกรมศิลปากร ได้ดำเนินการติดตั้ง พระอัฏฐารส องค์จำลอง ขนาดสูง 10 เมตรภายในวัดวิหารทอง