เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานหน้าอาคารเรียนสามเณร วัดธรรมจักร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พระครูนิทัศน์บุญญากร รองเจ้าอาวาสวัดธรรมจักร ได้พาผู้สื่อข่าว เดินชมบริเวณลานต้นไทรขี้นก พบเศียรพระขนาดใหญ่เส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร สูงประมาณ 90 เซนติเมตร ลักษณะเป็นปูนสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มองเห็นด้วยตาเปล่าเห็นเป็นช่วงบริเวณ ตา จมูก และปาก อยู่บริเวณโคนต้นไทรขี้นก ใกล้กันยังพบว่ามีใบเสมา โดยมีรากและลำต้นไทรปกคลุม ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
พระครูนิทัศน์บุญญากร รองเจ้าอาวาสวัดธรรมจักร เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นลานป่าสัก และมีลานเจดีย์ร้างมาก่อน ต่อมาได้มาทำการก่อสร้างเป็นวัดธรรมจักรในปัจจุบัน ไม่พบหลักฐานว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปในสมัยใด แต่ทราบเพียงว่าต้นไทรในบริเวณดังกล่าว เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2494 นับจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 64 ปี แต่คาดว่าเศียรพระพุทธรูปดังกล่าวน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 500-600 ปี พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือ อยุธยาตอนต้น ซึ่งพระพุทธรูปนี้เป็นหินแกะสลัก ยุคเดียวกับซากพระพุทธรูปที่ขุดค้นพบที่วัดวิหารทอง กับวัดอรัญญิก อ.เมืองพิษณุโลก
ปัจจุบันนี้เวลาที่มีประชาชนเข้ามาไหว้พระทำบุญที่วัด ก็มักจะแวะเวียนเข้ามากราบไหว้เศียรพระพุทธรูปดังกล่าว บางรายก็นำพวงมาลัย และผ้าแพร 3 สี มาผูกไว้ นับได้ว่าเป็นอีกจุดหนึ่งภายในวัดที่มีความน่าสนใจ เบื้องต้นก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือทางกรมศิลปากร เข้ามาตรวจสอบ ว่าเศียรพระพุทธรูปที่พบนั้น เป็นพระพุทธรูปปางอะไร และอยู่ในสมัยใดต่อไป
////////////