อาจารย์ประโยชน์ ลูกพลับ ประธานชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก วอนเยาวชนที่สนใจในศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลก คือ กลองมังคละ ร่วมสืบสานการทำกลองก่อนที่จะเลือนหายไป เพราะปัจจุบันแถบไม่มีการสานต่อการทำกลอง
สำหรับศิลปวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก คือ ดนตรีมังคละ ซึ่งถือเป็นดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลก ที่ปัจจุบันเริ่มได้รับความสนใจมีการสืบทอดกันโดย อาจารย์ประโยชน์ ลูกพลับ ประธานชมรมอุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่าจากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการหลายท่านคิดกันว่า ดนตรีมังคละนี้น่าจะมาจากประเทศอินเดีย หรือศรีลังกา เพราะเนื่องจากดนตรีชนิดนี้ดูคล้ายกับเครื่องดนตรีที่ชาวลังกาใช้บรรเลงในพิธีทางศาสนา (พิธีพารห์ม) เป็นอย่างมาก ในสมัยกรุงสุโขทัยพบหลักฐานทางด้านของการเผยแพร่ศาสนาจากลังกาที่เข้ามาสู่ประเทศไทยว่า ได้มีการนำดนตรีชนิดหนึ่งเข้ามาเล่นบรรเลงในพิธีกรรมทางศาสนาด้วย โดยที่พิษณุโลกน่าจะเป็นที่เมืองนครชุม หรือนครไทยในปัจจุบัน ที่ได้รับอิทธิพลมาก่อนที่อื่น ที่นำมาละเล่นกันน่าจะตามงานพิธีต่างๆ
แต่ตามที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บันทึกไว้ในคราวเสด็จมาตรวจการที่หัวเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2444 ท่านได้เขียนไว้ว่า ได้ยินดนตรีดังกล่าวบริเวณวัดสกัดน้ำมัน เป็นการเล่นในงานแห่นาค จึงได้เรียกมาแสดงให้ดูที่หน้าวัดมหาธาตุ หรือวัดใหญ่ หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหารในปัจจุบัน และท่านได้ให้ทัศนะต่อดนตรี “มังคละ” ว่า “เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้” นอกจากนี้ก่อนที่ท่านจะเสด็จมาถึงจังหวัดพิษณุโลก ที่พิจิตรท่านก็ได้ยินเสียงดนตรีนี้ด้วยเช่นกัน และก็เล่นในงานแห่นาคเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่ากำเนิดนั้นมาจากไหนก่อนหลังกันแน่ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการสืบสานต่อให้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
ดนตรีมังคละเกือบจะเลือนหายไปแล้วหากไม่มีคนสานต่อ จนนายทองอยู่ ลูกพับ หนึ่งในนักดนตรีมังคละในสมัยอดีต อดีตคนดีศรีพิษณุโลก บิดาของ อาจารย์ประโยชน์ ลูกพลับ ได้เพียรพยายามฝึกสอนการเล่นดนตรีชนิดนี้ให้กับครูหลายท่านในสถานศึกษาจนต่อมา ตนเองก็สานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อ พยายามฝึกเล่นและสอนการละเล่นดนตรีมังคละจนปัจจุบันวงดนตรีมังคละได้มีคนรู้จักและนำไปเผยแพร่กันอย่างแพร่หลาย มีลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชาดนตรีมังคละจากอาจารย์ประโยชน์มากมายจากทั่วประเทศ
อาจารย์ประโยชน์ ลูกพลับ เล่าให้ฟังว่าหลังจากที่พ่อของตนเองเสียชีวิตลงนั้น ตนเองก็ตั้งใจที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อ เริ่มแรกเหนื่อยหน่อยเพราะต้องตระเวนหาความรู้จากครูบาอาจารย์หลายท่านเพื่อรวบรวมความรู้ ข้อมูลในการเผยแพร่ต่อยังลูกหลาน แต่ด้วยคนไทยในสมัยอดีตค่อนข้างหวงวิชา กว่าอาจารย์ประโยชน์จะเกลี่ยกล่อมให้ครูดนตรีหลายท่านยอมสอนได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร จนมาวันหนึ่งอาจารย์ประโยชน์จัดการประชุมขึ้นมาเพื่อตั้งชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองมังคละและคัดเลือกประธานชมรม แรกเริ่มได้มีการผลัดเปลี่ยนประธานหลายคน เพราะเนื่องจากประธานแต่ละคนนั้นเป็นข้าราชการ มีตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบกันอย่างหนักจึงไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่าที่ควร สุดท้ายก็ต้องเลือกใหม่ อาจารย์ประโยชน์ ถูกรับเลือกให้เป็นประธาน เพราะเนื่องจกมีคุณสมบัติครบถ้วน อีกทั่งยังเป็นคนทุ่มเทให้กับงานนี้อย่างจริงจังอีกด้วย
อาจารย์ประโยชน์เดิมนั้นรับราชการทหารในตำแหน่งเรืออากาศตรี ข้าราชการและลูกจ้าฝ่ายคลังอาวุธ 2 แต่ด้วยสายเลือดของนักดนตรีจึงไม่อาจละเลยน่าที่ตรงนี้ไปได้
ปัจจุบันวงดนตรีมังคละได้มีคนรู้จักและนำไปเผยแพร่กันอย่างแพร่หลาย มีลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชาดนตรีมังคละจากอาจารย์ประโยชน์มากมายจากทั่วประเทศ อาจารย์บอกว่าแรกเริ่มเดิมทีอาจารย์ใช้ปากทำเป็นเสียงดนตรี เป็นจังหวะในการสอน การใช้มือตีกับหัวเข่าในการเคาะจังหวะ ตลอดจนคิดหาวิธีการเขียนโน้ตดนตรีด้วยการแบ่งช่องเพื่อให้เข้าใจง่าย ตามลำดับอายุของผู้เล่น อาจารย์ประโยชน์สอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลตอดไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่วนท่ารำนั้นเดิมที คุณพ่อทองอยู่ ลูกพลับ ได้ไปขอให้อาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสถาบันราชภัฎพิบูลสงครามอยู่ ให้มาช่วยออกแบบท่ารำ อาจารย์ท่านนี้มีชื่อว่า อาจารย์อนงค์ นาคสวัสดิ์ แต่ด้วยท่ารำของอาจารย์นั้นยากเกินไป คุณพ่อทองอยู่จึงให้นางเอกลิเกคณะหนึ่งในตำบลจอมทอง จังหวัดพิษณุโลก มาช่วยคิดให้ และได้ท่ารำง่ายๆตามแบบฉบับท่ารำวงมาตรฐาน 12 ท่ามารวมกัน ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับความเป็นมาของดนตรีมังคละที่เมื่อสมัยอดีตนั้นใช้บรรเลงในงานรื่นเริง โดยชาวบ้านก็จะรำแบบตามมีตามเกิด สำหรับการแต่งกายนั้น หญิง จะแต่งกายแบบชาวบ้านเสื้อแขนกระบอก มีสไบพาด นุ่งผ้าถุงหรือโจงกระเบน มีดอกไม้ทัดหู ส่วนชายจะสวมใส่ผ้าหม้อห่ม หรือกางเกงขาก๊วยเสื้อลายดอก มีผ้าขาวม้าคาดเอว การร่ายรำนั้นหนุ่มสาวจะหยอกล้อกันไปมาเพื่อความบันเทิง
วงดนตรีมัคละจะมีเครื่องดนตรีอยู่ไม่มาก ซึ่งได้แก่ 1. กลองสองหน้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย 1.1กลองยืน จะมีด้วยกัน 3 ลูก มีเสียงสูง ใหญ่ และขนาดต่างกัน 1.2 กลองหลอน 1 ลูก 2. กลองมังคละ เป็นกลองชิ้นเอก มีจังหวะตีถี่ยิบ มีไม้ตีสองอัน ตามแต่ผู้เล่นจะตีถี่แค่ไหน กลองมังคละจะมีหน้าที่เป็นตัวสั่งเล่น สั่งหยุด และสั่งเปลี่ยนเพลง 3. ปี่ ปี่ชนิดนี้บ้างเรียกกันว่าปี่จีนหรือปี่เจ๊ก บ้างเรียกกันว่าปี่ชวา แต่อาจารย์บอกว่าเราเรียกปี่มังคละ 4. ฆ้องหรือโหม่ง ประกอบไปด้วย ฆ้องหน้าและฆ้องหลัง 5. ฉาบ ก็จะมี 2 ชิ้นคือฉาบยืนและฉาบหลอน
ทุกวันนี้อาจารย์ประโยชน์ทำกลองมังคละและกลองสองหน้าเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ขนุนเพื่อนำมาทำกลอง การกลึง การขุดกลอง การขึงหนังกลอง เรียกได้ว่าทำเองทุกขั้นตอนเพียงคนเดียว โดยยังไม่มีใครมาสานต่อความรู้นี้ การทำกลองมังคละนั้นต้องใช้ไม้ที่ไม่อ่อนและไม่แข็งจนเกินไป อย่างไม้ขนุนนี้เป็นไม้ที่ดี แต่ ปัจจุบันไม้ขนุนเริ่มหายาก ต้องหาไม้ทดแทนก็มีเหมือนกันอย่างเช่น ไม้ก้ามปู ไม้มะม่วง เป็นต้น แต่การหาไม้มาทำกลองนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไร ตรงกันข้ามกับการหาคนมาสืบสานการทำกลองนั้นยากกว่า จึงอยากเชิญชวนเยาวชนที่สนในศิลปะพื้นบ้านมาร่วมสืบสานการทำกลองเพื่อไม่ให้เลือนหาย แต่ต้องเข้าใจว่าการทำกลองนั้นต้องใช้ความอดทนมาก หากมีใครหรือหน่วยงานไหนพอช่วยได้ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพก็อยากให้เข้ามาพูดคุยกัน หรือติดต่อไปได้ที่บ้านพัก ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เบอร์โทรศัพท์ 081-6056338………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..