รพ.ม.นเรศวร เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่

11มูลนิธิโรงพยาบาลม.นเรศวร แถลงผลงาน 1 ทศวรรษ เปิดคลินิกช่วยรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า เป็นแห่งแรกของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง รองรับผู้ป่วยจาก 8 จังหวัด โดยเริ่มต้นโครงการฯ รักษาผู้ป่วยไปแล้วทั้งสิ้น 61 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา60208

วันที่ 11 พ.ค. 58 ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก นำโดย ศ.ดร.สุจินต์  จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.นพ.ศิริเกษม  ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รศ.ทพ.ดร.ทศพล  ปิยะปัทมินทร์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ อ.นพ.ศรัณย์  วรศักดิ์วุฒิพงษ์ ผู้อำนวยการสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ร่วมเปิดงาน “ก้าวสู่ 1 ทศวรรษ มูลนิธิโรงพยาบาลนเรศวร” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาและวิจัยด้านแพทยศาสตร์ ส่งเสริมการรักษาป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้10

ในโอกาสก้าวสู่ 1 ทศวรรษในปีนี้ มูลนิธิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ คือ โครงการรักษาแก้ไขผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า จำนวน 61 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา จึงจัดให้มีการดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้าเหล่านั้น ได้รับการรักษาแบบครบวงจร มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งผู้ป่วยและครอบครัว พร้อมนี้ได้จัดให้มีการเสวนา “เติมเต็มกลีบดอกไม้ที่หายไป” เปิดเวทีให้มีการเล่าถึงประสบการณ์การรักษาแก้ไขผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยทีมผู้รักษาและครอบครัวตัวอย่างของผู้ป่วย1

นางอัญชลี  สุจาโน อายุ 22 ปี มารดา ของ ด.ช.นนทกานต์  เชื้อกลางใหญ่ หรือน้องแอร์ฟอร์ซ อายุเพียง 28 วัน หนึ่งในครอบครัวผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่กำเนิด กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรมีโครงการดังกล่าว ให้การรักษาฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น จึงได้พาบุตรชายมาทำการรักษา ปรึกษาทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตรวจสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก เพื่อจะทำการรักษาโดยพิมพ์แบบฟันเพื่อจัดสันเหงือก ก่อนทำการผ่าตัดเย็บริมฝีปากและจมูก นอกจากนี้ตนยังรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อพระสกนิกรชาวไทยของพระองค์ ทำให้สามารถรักษาบุตรชายให้หายและใช้ชีวิตเป็นปกติ อยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ในสังคมได้ในอนาคต16

ทั้งนี้การเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ฯ มีสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นดังนี้ คือ 1.พันธุกรรม หมายถึง ความผิดปกติของสารพันธุกรรมมีได้ 2 ทาง ได้แก่ 1.ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดาหรือมารดา เรียกผู้ป่วยรายนั้นได้ว่าเป็นกรรมพันธุ์ 2.ความผิดปกติของสารพันธุกรรม ที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเองโดยไม่จำเป็นจะต้องมีประวัติบุคคลอื่นในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ 2.สิ่งแวดล้อม เช่น ยาที่ได้รับระหว่างการตั้งครรภ์ ประเภทยารักษาสิว พบมากในมารดาที่กินยารักษาสิว การสูบบุหรี่ การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น กรดโฟลิก หรือกรดโฟเลต โดยปกติสูติแพทย์จะแนะนำให้รับประทานโฟเลตก่อนตั้งครรภ์ เพราะกลไกการเกิดโรคจะเกิดที่อายุครรภ์ประมาณ 2 เดือน ด้วยการรักษาในปัจจุบันสามารถรักษาได้ทุกช่วงอายุ ถ้ายังมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ก็สามารถรักษาได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคว่ามีความเกี่ยวข้องกับการรักษาในเรื่องใดบ้าง แต่ถ้ารีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่แรกเกิดจะได้ผลที่สุด13

สำหรับสถานรักษาแก้ไขภาวะปกแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร เกิดขึ้นจากการรวมตัวกลุ่มเล็กๆ ทำงานร่วมกันของศัลยแพทย์และทันตแพทย์ เริ่มรักษาเด็กแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ต่อมาคนไข้ที่เข้ามาทำการรักษามีจำนวนมาก และมีความซับซ้อนของโรคมากขึ้น และเกี่ยวข้องกับแพทย์อีกหลายสาขา มีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น กระทั่งสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบมีมติให้ก่อตั้งให้เป็น “คลินิกแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า” จัดตั้งเป็นแห่งแรกของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง รองรับผู้ป่วยจาก 8 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร และนครสวรรค์7

ซึ่งโรคนี้เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบค่อนข้างบ่อยกว่าโรคอื่น อุบัติการณ์การเกิดโรคของทารกแรกเกิดในประเทศไทย 1:700 ราย ส่วนการศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่างพบว่า 1:500 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากจังหวัดขอนแก่น ในอนาคตประเทศไทยก็จะต้องเข้าร่วมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จังหวัดพิษณุโลกซึ่งตั้งอยู่ในสี่แยกอินโดจีน ซึ่งต่อไปอาจกลายเป็นศูนย์กลางทางสุขภาพ (Medical Hub) ของอาเซียน ซึ่งโรคกลุ่มนี้พบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ด้วย จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาศักยภาพให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคนี้ ขณะที่บุคลากรของคณะแพทย์ศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์นั้น มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพียบพร้อมทุกแขนงสาขาวิชา สามารถให้การดูแลรักษาโรคนี้ได้โดยทีมสหวิทยาการซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐานระดับสากล ช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่แต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้าผู้ยากไร้ เพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแลพัฒนาศักยภาพ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ ด้วยการให้บริการผ่าตัดรักษาแก้ไขผู้ป่วย ด้วยการใส่เครื่องมือเพื่อจัดสันเหงือกและจมูกก่อนการผ่าตัด (NAM) หรือใส่เพดานเทียม ผ่าตัดเย็บริมฝีปากแหว่ง ผ่าตัดซ่อมเพดานโหว่ ร่วมกับใส่ท่อระบายหูชั้นกลาง ปลูกกระดูกที่สันเหงือก ทันตกรรมจัดฟัน ผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ผ่าตัดแก้ไขจมูกหรือริมฝีปาก อุดฟันถอนฟัน ผ่าฟันคุด โดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทย์ศาสตร์3

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ป่วย ที่เห็นเด่นชัด คือ รูปร่างและเค้าโครงของใบหน้าที่ดีขึ้น การพูด การได้ยิน การกลืน ปัญหาเกี่ยวกับฟัน รวมถึงพัฒนาการและการเจริญเติบโต จะดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป หากผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฯ หรือต้องการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัทพ์ 055-967904 , 083-6235428 รายละเอียดเพิ่มเติม www.med.nu.ac.th

…………………………………………………………………………

แสดงความคิดเห็น