สืบสานดนตรีพื้นบ้านประยุกต์ ดนตรีไทย และ ดนตรีพื้นเมือง เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สะท้อนวิถีชีวิต และความเจริญทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ที่ควรจะมีผู้สืบสาน อนุรักษ์ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพชุมชน และสังคมภายนอก โรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่นอกจากการเรียนการสอนทางวิชาการแล้ว นายพิพัฒน์ พรมโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม ได้เล็งเห็นความสำคัญของดนตรีไทย และดนตรีพื้นเมือง จึงได้ทำโครงการฝึกปฏิบัติวงดนตรีพื้นบ้านประยุกต์ ให้กับนักเรียนที่มีความสนใจ ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ เพื่อเป็นการปลูกจิตสานึกให้เกิดความรู้ เข้าใจ รักและหวงแหน ความสำคัญของดนตรีไทย และ ดนตรีพื้นเมืองซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ เพื่อให้มีการสืบทอดต่อไป การนำเครื่องวงโปงลางมาประยุกต์กับเครื่องดนตรีสากลที่หลากหลายของโรงเรียน เป็นเรื่องที่น่าสนใจและแปลกใหม่ของชุมชนบ้านกลาง เนื่องจากชุมชมในพื้นที่เป็นคนท้องถิ่น และไม่ได้เป็นคนทางภาคอิสานที่มีความคุ้นเคยกับดนตรีโปงลางมาก่อน จึงทำให้นักเรียนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้กว่า 30 คน โดยมีผู้ปกครองต่างให้การสนับสนุน มาเป็นกำลังใจในการฝึกซ้อม ช่วงเวลาในการฝึกซ้อมที่มีพี่ ๆ นิสิตเก่าจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม พิษณุโลก มาเป็นพี่เลี้ยงให้ ถือว่านักเรียนที่เข้าโครงการมีพัฒนาการที่เร็วมาก สามารถเรียนรู้การเล่น การแสดงได้อย่างรวดเร็ว นางสาวฉัตรธริกา ชาญสมร นักเรียนชั้น ม.6 (นักร้องนำ) เล่าว่า “ช่วงแรกๆ เราต้องเอาพื้นที่ของตัวเองมาใช้ คุณครูฝึกสอนดี เราก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คิดว่าการเล่นดนตรีเป็นสิ่งที่ดี เพราะดนตรีทำให้เรามีความสุขค่ะ” นางสาวพรทิพย์ จันวิสิทธิ์ นักเรียนชั้น ม.5 (โปงลาง) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนแรกคิดว่าจะเล่นยากพอมาเล่นจริง ๆ ไม่ยากเลยค่ะ เราไม่เคยเล่นโปงลางมาก่อนเลย ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การเรียนเรื่องตัวโน้ต และจำว่าเพลงนี้ต้องใช้โน้ตอะไร เป็นการฝึกดนตรีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ และสืบสานวัฒนธรรมไทย ไม่ให้สูญหายไปค่ะ” ด้าน นายมงคล ศรีบุตรตา นิสิตเก่าจากมหาวิทยาลัยมหาสารคม พี่เลี้ยงสอนดนตรี “บอกว่า เด็ก ๆ มีความตั้งใจซ้อมกันมาก ตรงต่อเวลา มีวินัย ใจสู้ ใหม่ ๆ อาจจะหนักหน่อย แต่ทุกคนก็มีความตั้งใจ 5 วันที่ผ่านมา เด็ก ๆ ทำได้เยี่ยมมาก อาจจะเป็นเพื่อพื้นฐานครอบครัวชอบในเสียงดนตรี ผู้ปกครองสนับสนุนอีกทางหนึ่ง จึงทำให้เด็ก ๆ มีการเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ดีมาก ให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด และมีวิชาติดตัวด้วย” ทางด้าน นายสัณหชัย ทรงเจริญ ครูผู้ควบคุมวงดนตรี กล่าวเสริมว่า “เด็ก ๆ มีความกระตือตืนร้นในการฝึกซ้อม เวลา 10 วันของการเข้าค่ายครั้งนี้ เป็นค่ายที่ให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผู้ปกครองก็สนับสนุน มาให้กำลังใจในการฝึกซ้อมแก่บุตรหลานของตัวเอง” นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ในช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 ที่ให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สืบสานวัฒนธรรม ดนตรีพื้นบ้านของไทยเรา และเปิดเทอมปีการศึกษา 2558 ที่จะถึงนี้ วงดนตรีพื้นบ้านประยุกต์ของโรงเรียนโรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม คงได้มีโอกาสได้ออกแสดงรับใช้ชุมชน โรงเรียนและชาวพิษณุโลกแน่นอน. ……………………………………………… วรางคณา อนันตะ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สพม.39