ชาวสวนสับปะรด อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงงานจังหวัดทางภาคใต้ ทั้งจ.ชลบุรีและระยอง หลังความต้องการสูงขึ้น ขณะที่ราคาปีนี้นับเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ เพราะมีการรับซื้อถึงสวนกิโลกรัมละ 9.40 บาท ถือว่าได้ราคาสูงที่สุดในรอบ 30 ปี
วันที่ 1 เมษายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ต่างเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตมาส่งที่จุดรับซื้อในหมู่บ้าน เพื่อส่งไปจังหวัดทางภาคใต้ ทั้ง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง หลังจากมีความต้องการสูงขึ้น ขณะที่ราคาปีนี้มีการมารับซื้อถึงสวน กิโลกรัมละ 9.40 บาท ซึ่งถือว่าได้ราคาสูงที่สุดในรอบ 30 ปี
นางนิศากร ปานสมบูรณ์ อายุ 40 ปี เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ในพื้นที่ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนได้ปลูกสับปะรดไว้จนเต็มพื้นที่ 200 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสับปะรดพันธุ์ภูแลสายน้ำผึ้งเนื่องจากมีความต้องการสูง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง สุรา ไวน์ โดยราคาปีนี้มีการขยับราคาสูงขึ้น 4 เท่าตัว ราคาที่รับซื้อในพื้นที่จึงสูงขึ้นมาก ซึ่งผลใหญ่สมบูรณ์จะอยู่ราคากิโลกรัมละ 9.40 บาท ส่วนผลเล็กอยู่ที่ราคา กิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งราคานี้ถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรรอคอยมานานกว่า 30 ปีที่จะได้ราคาดีขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาราคาสับปะรดตกต่ำมาก ช่วงวิกฤตสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.80 บาท จนทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุนต้องยอมปล่อยสับปะรดทิ้ง บางรายเลิกปลูก เพราะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งค่าจ้าง ปุ๋ย ยาและค่าขนส่งที่แพงขึ้น จนช่วงที่ผ่านมามีการออกมาประท้วงด้านราคากัน แต่ปีเมื่อราคาดีขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้มีเกษตรกรเริ่มลงมือปลูกสับปะรดใหม่อีกหลายพันไร่ แต่ก็คงไม่ทันส่งขายในปีนี้ต้องรอปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าราคาจะยังดีอยู่
นางนิศากร กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบจากภัยแล้งสับปะรดได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น แต่สิ่งที่หน้าห่วงคือ ลูกเห็บ เพราะ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกิดลูกเห็บตกบ่อยถ้าตกลงมาอาจสร้างความเสียหายกับผลผลิตได้ ช่วงนี้เกษตรกรจึงมีการนำกระดาษ ฟางข้าวไปห่อคลุมไว้เพื่อลดความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีหนูระบาดมีกัดกินผลสับปะรดจนเสียหายแต่ไม่มากหนัก
ในช่วงนี้จึงนับเป็นช่วงทองของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่จะสามารถมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ด้วยราคาที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเกือบกิโลกรัมละ10 บาท ซึ่งเกษตรกรหลายรายบอกว่า จุดคุ้มทุนของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดนั้น ราคาไม่ควรต่ำกว่า กิโลกรัมละ 5 บาท เพราะต้นทุนการผลผลิตในปัจจุบันหลายอย่างปรับราคาสูงขึ้น