สีสัน การละเล่นม้าแห่ หรือ ประเพณีการแห่นาค ประเพณีเก่าแก่สืบทอดต่อกันมามากกว่า 60 ปีที่หาดูยาก เพราะมีแห่งเดียวในจังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านดงประโดกกรมธรรม์ ต.สมอแข คงรักษาประเพณีนี้ไว้เป็นวัฒนธรรม ร่วมกันแห่นาคบนม้า ขย้มสุดเหวี่ยง ทั้งเอียง ทั้งเท นาคต้องทรงตัวอยู่ให้ได้โดยไม่ตกลงมาจากหลังม้าไปตลอดตามเส้นทาง
วันที่ 28 มีนาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ชุมชนบ้านดงประโดกกรมธรรม์ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก วันนี้ได้ประเพณีการแห่นาคหรือ “การละเล่นม้าแห่” ถือเป็นชุมชนที่ มีประเพณีการบวชพระที่เป็นเอกลักษณ์ต่างจากชุมชนอื่น หรือ มีแห่งเดียวในจังหวัดพิษณุโลก ที่ประชาชนญาติพี่น้องในชุมชน จะเตรียมทำม้าไม้ เพื่อให้นาคได้ขึ้นหลังม้าไม้ หลังรับศีลจากพระสงฆ์ที่วัดกรมธรรม์แล้ว ก่อนที่จะตั้งขบวนแห่จากวัดไปที่บ้านของนาค ซึ่งก็สร้างความสนุกสนานให้กับประชาชนที่มาร่วมงาน
โดยในการบวชครั้งนี้ คือพิธีอุปสมบทนาคชนัญญ ภาถีร์ อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 337 หมู่3 ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวว่า การบวชพระของหมู่บ้านดงประโดกกรมธรรม์เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมานาน ในวันแรกก็จะมีการสร้างตัวม้าขึ้นมาโดยมีขั้นตอนและวิธีการทำที่ค่อนข้างจะละเอียดทุกขั้นตอน เพราะต้องมีความแข็งแรงและปลอดภัย เพราะถ้าผู้เป็นนาคขึ้นขี่บนตัวม้าซึ่งมีคานหามทั้งสองข้างจะถูกคนที่แบกคาน ที่เรียกว่า “ขาม้า” กว่า 10 คน พร้อมใจหามขึ้นบ่าและเขย่มไปตามจังหวะเพลงและจังหวะกลองที่ปรับประยุกต์ไปจากของเดิมตามกาลเวลา และสมัยนิยมที่จะนำความสนุกสนานเข้ามาเป็นตัวกำหนด ในพิธีอุปสมบถในปัจจุบันซึ่งนับวันจะเริ่มจางหายไปตามกาลเวลาเพราะการที่จะสร้างม้าแห่ขึ้นมาเพื่อใช้ในงานพิธีอุปสมบทในแต่ละครั้งนั้นเป็นการใช้จ่ายที่ค่อนข้างมากเพราะการสร้างตัวม้าแต่ละครั้งนั้นจะใช้ค่าใช้จ่ายใช้เวลาและใช้คนที่จะมาช่วยกันสร้างตัวม้า ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเอารูปสัตว์ในวรรณคดีต่างๆแล้วแต่เจ้าภาพแต่ละงานมีความประสงค์ต้องการสัตว์เป็นรูปอะไร เช่นม้า ,ราชสีห์ ,คชสีห์ หรือ หงส์ นำมาครอบบนตัวม้าอีกครั้งหนึ่ง และใช้สีน้ำมันวาดเป็นลวดลายของตัวสัตว์ด้วยความสวยงามก่อนจะแห่นาค หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ม้าแห่” ซึ่งเป็นการละเล่นที่สนุกสนานของชาวบ้านเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา รักความสงบและชอบความสนุกสนาน การบวชนี้นิยมจัดพิธีบวชในเดือน 4 ซึ่งเป็นเดือนที่เสร็จภารกิจจากการทำนา และนิยมจัดงานบวช 3-4 วัน การจัดงานจะจัดกันอย่างเอิกเกริก
ซึ่งบรรยากาศในวันแรกนี้ตลอดการแห่ จะเห็นการเขย่มของผู้แบกคานหามนั้น มีทั้งเอียง เทไปข้างใดข้างหนึ่ง จนผู้ที่อยู่บนหลังม้าแทบไม่สามารถที่จะทรงตัวอยู่ได้บนหลังม้า ซึ่งชาวบ้านในถิ่นนี้มีความเชื่อกันว่าเหมือนมีมารมาผจญ แต่ต้องทำสมาธิ ให้ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาจากหลังม้าไปตลอดตามเส้นทางทางจนถึงบ้านของนาค และในวันที่ 2ประชาชน ญาติพี่น้อง ก็จะตั้งขบวนแห่ พร้อมกับให้นาคขึ้นม้าไม้ เพื่อแห่นาคจากบ้านไปวัด เพื่อวนรอบโบสถ์จนครบ 3 รอบ ก่อนจะเข้าพิธีอุปสมบท บวชเป็นพระสงฆ์ในที่สุดโดยในการแห่นาคนาคชนัญญ ภาถีร์ วันนี้ขาม้า กลับเขย่า ไม่ค่อยไหว เนื่องจากน้ำหนักของนาคชนัญญ ภาถีร์ กว่า 100 กิโลกรัม ทำให้ขาม้ากว่า 10 คนต้องค่อยเขย่าทีเดียว
//////////////////