ชาวบ้านและกลุ่มเรารักเนินมะปรางพบซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์ ภายในคลองห้วยผึ้ง หมู่ 10 บ้านศาลเจ้า ต.บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก น้ำในคลองแห้งจึงพบเห็นเกาะตามโขดหินและซากหินจำนวนมาก เป็นซากฟอสซิล ลักษณะคล้ายเปลือกหอยแบนยาวประมาณ 5 – 10 ซม. เกาะติดฝังแน่นอยู่กับหินปูนทั่วทั้งก้อน คาดอายุ ราว 286-360 ล้านปี ยุคเดียวกับที่เคยพบซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์ในผนังถ้ำที่เขตห้ามล่าสัตว์ผ่าถ้ำผาท่าพลที่ห่างไปประมาณ 5 กม.
วันที่ 13 ก.พ. 2558 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่า มีชาวบ้านพบซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์ ภายในคลองห้วยผึ้ง หมู่ 10 บ้านศาลเจ้า ต.บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก หลังรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบ โดยพื้นที่สำรวจค้นพบนั้นอยู่ภายในไร่ของนายณัฐพงษ์ แก้วนวล อายุ 40 ปี อาชีพเกษตรกร พบชาวบ้านและนักอนุรักษ์กลุ่มเรารักเนินมะปราง กำลังจับกลุ่มยืนมุงดูซากฟอสซิลของพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์ ที่เกาะตามโขดหินและซอกหินจำนวนมาก หลังจากก่อนหน้านี้สภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้น้ำในลำคลองห้วยผึ้งแห้งขอดและลดลง จนนายณัฐพงษ์ แก้วนวล เจ้าของไร่ ขณะที่มาลงน้ำหาปลาได้มาพบซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์โดยบังเอิญ จึงได้แจ้งไปยังนักอนุรักษ์กลุ่มเรารักเนินมะปรางให้รับทราบเรื่องดังกล่าว
จากการตรวจสอบพบว่า ภายในคลองห้วยผึ้งบริเวณจุดที่พบซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์นั้น มีหินปูนขนาดใหญ่ จำนวน 4 ก้อน ซึ่งทุกๆ ก้อน เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันใช้แปรงขัด และใช้น้ำราดชะล้างทำความสะอาด จนคราบตะไคร่น้ำออกจนหมด เผยให้เห็นถึงซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิต ลักษณะคล้ายเปลือกหอยแบนยาวประมาณ 5 – 10 ซม. เกาะติดฝังแน่นอยู่กับหินปูนทั่วทั้งก้อน
นอกจากนี้ยังพบว่า ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ ต.เนินมะปราง ต.บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก ต.บ้านมุง ของ อ.เนินมะปราง โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,775 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากคลองห้วยผึ้งจุดที่สำรวจพบซากฟอสซิลในวันนี้ ประมาณ 5 กม. โดยพื้นที่เป็นถ้ำและภูเขาหินปูน ก็มีการสำรวจพบซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์เช่นกัน
สำหรับภูเขาผาท่าพลนั้นจัดเป็นเขาหินปูน อยู่ในมหายุคพาลีโอซีน (Palaeocene) และอยู่ในยุคย่อยคาร์บอนิฟอรัส (Caboniferus) มีอายุราว 286-360 ล้านปีมาแล้ว เป็นภูเขาที่ทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ภูเขาหินปูนบริเวณนี้ ส่วนมากเกิดจากการทับถมของเปลือกหอย พลับพลึงทะเล หรือปะการัง เมื่อตายแล้วถูกฝังในดินโคลน หรือทราย ก่อนจะเน่าเปื่อย และถูกฝังรักษาไว้ในหิน บางครั้งเปลือกหรือกระดูกของสัตว์ก็จะถูกแทนที่ด้วยแร่ธาตุ แต่ยังคงรูปร่างไว้เช่นเดิม จากการศึกษาและจำแนกซากดึกดำบรรพ์ทำให้ทราบว่า บริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน
ซึ่งหลังจากวันนี้ได้มีการสำรวจค้นพบ ซากฟอสซิลพลับพลึงทะเลดึกดำบรรพ์แล้ว จะได้ติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาดูแล หรือปรับพื้นที่สำรวจพบเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ให้ประชาชนทั่วไป นักเรียน และนักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย.