เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา เลี้ยงหมูหลุม เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ กำไรดี มีรายได้หมุนเวียนและ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอมร อ่อนศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ได้เห็นความสำคัญของการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงได้มอบหมายให้ นายจรัญ บัวเพ็ง อาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโยลี สอนในวิชาเกษตรให้แก่นักเรียน โดยให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เลี้ยงหมูหลุม ให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียน
การเลี้ยงหมูด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้พื้นที่บริเวณริมรั้วโรงเรียน ทำโรงเรือน จำนวน 2 โรงเรือน ขนาด 4 x 4 เมตร ลึก 0.90 เมตร ส่วนลึกขอบข้างทั้ง 4 ด้านก่อด้วยอิฐ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน นำแกลบ ดิน รำ เกลือ จุลินทรีย์(EM) ผสมกันให้ในวงบ่อ สูงประมาณ 0.30 เมตร โดยใน 1 หลุมสามารถเลี้ยงหมู่ได้ 8-10 ตัว ซึ่งโรงเรียนมีทั้งหมด 18 ตัว
สำหรับหมูพันธุ์ที่โรงเรียนนำมาเลี้ยง เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทย คือ พันธุ์ลาร์จไวท์ เนื่องจากรูปร่างใหญ่ มีผิวขาวตลอดทั้งตัว ลักษณะหัวมีขนาดโตปานกลาง ใบหูตั้ง ลำตัวยาวลึก หลังและบริเวณสะเอวแคบ ไหล่หนาแข็งแรง จุดเด่นของสุกรพันธุ์นี้ คือ เลี้ยงง่าย และยังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จึงสามารถเจริญเติบโตมีน้ำหนักสูงถึง 100 กิโลกรัมเลยทีเดียว ระยะเวลาในการเลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ 120 วัน ก็สามารถจำหน่าย นำรายได้มาหมุนเวียนซื้อพันธุ์หมูมาเลี้ยงต่อได้
ซึ่งนอกจากนี้ ประโยชน์ของการเลี้ยงหมูหลุม ยังทำให้ได้ปุ๋ยหมักชั้นดีจากขี้หมูที่อยู่ในหลุม เนื่องจากขี้หมูไปผสมกับหญ้าที่ใช้รองพื้น หรือหญ้า และเศษอาหารเศษผลไม้ มันจะหมักจนกลายเป็นปุ๋ย โดยใช้แกลบดับกลิ่นเหม็นของขี้หมู โดยที่ไม่ต้องไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมูที่เลี้ยงไว้จะเป็นคนคลุกเคล้าปุ๋ยหมักให้เอง เพราะมันเดินอยู่ในหลุมทุกวัน ใช้เวลา 1 เดือนก็สามารถตักปุ๋ยหมักที่ได้จากขี้หมูในหลุมไปใช้ในเป็นปุ๋ยใส่พืชต่างๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันมีคนสั่งจองปุ๋ยที่จะได้หมดแล้ว
นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของโรงเรียนวัดโบสถ์ศึกษา ที่นอกจากจะสอนนักเรียนให้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม มีความรับผิดชอบในหน้าที่ แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน สามารถให้นักเรียนมีรายได้ในระหว่างเรียน เรียนรู้วิธีการเลี้ยง สามารถไปเลี้ยงเองที่บ้านได้ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย
…………………………