วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่บริเวณลานหน้าสโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก. พลตรี คู่ชีพ เลิศหงิม รองแม่ทัพภาคที่ 3/รองผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 เป็นประธานการแถลงข่าว โครงการ “ราษฎร รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” และปล่อยขบวนรถเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตามโครงการ “ราษฎร รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง”
ทั้งนี้ตามที่กองทัพบก/ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก ได้ดำเนินการ โครงการ“ราษฎร รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” มาตั้งแต่ปี 2552 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาในทุกๆปี สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 17 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้ง 5 หน่วยงานประกอบด้วยกองทัพบก , บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน , กรมทรัพยากรน้ำบาดาล , การประปาส่วนภูมิภาค , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร ที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้
ในส่วนกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือนั้น ก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบทางฝ่ายอำนวยการ ประสานงาน เป็นส่วนรวม จัดกำลังพลและรถยนต์บรรทุกน้ำ ในการนำน้ำอุปโภค บริโภคเข้าไปแจกจ่าย ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของหมู่บ้าน เช่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งในปีนี้โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ได้เปิดโครงการฯเร็วขึ้น เนื่องจากในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งของประเทศมาเร็วกว่าทุกปี และมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 2 จังหวัด ที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ภัยแล้ง (จังหวัดสุโขทัย ที่ อ.เมือง และ จังหวัด นครสวรรค์ที่ อ.ตาคลี) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในบางพื้นที่ ที่ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง ประชาชนบางส่วนก็เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำกันแล้ว
กองทัพภาค ที่ 3/ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่สำคัญอีก 7 หน่วยงาน ได้แก่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปาส่วนภูมิภาค, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก, องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาภัยแล้ง จึงได้ร่วมกันระดมศักยภาพของแต่ละหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยพร้อมเพียงกัน ซึ่งภาพของความร่วมมือนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่จนกว่าปัญหาภัยแล้ง ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จะทุเลาเบาบางลงไปตลอดห้วงฤดูร้อนนี้ แต่ต้องขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ตลอดจนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นประจำพื้นที่ในการดูแล และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ และเป็นสิ่งที่จะลดความรุนแรงของภัยพิบัติต่างๆได้