นายอำนวย รัตนอำนวยศิริ หมู่ 7 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เจ้าของฟาร์มปลูกเมล่อนญี่ปุ่นเพื่อส่งออกไปและจำหน่ายตลาดในเมืองไทย เปิดเผยว่า ตนเองได้ปลูกเมล่อนญี่ปุ่นโดยปลูกในโรงเรือน 32 โรง บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ปลูกหมุนเวียนในโรงเรือนต่าง เพื่อให้โตไปเรื่อย ๆๆ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งจำหน่ายได้ทุก 3 วัน ปัญหาในพื้นที่ปลูกเมล่อน ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก คือ เป็นพื้นที่ราบสูงเชิงเขา มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยน้ำจากบ่อน้ำบาดาลที่สูงน้ำมากักเก็บไว้
โดยเมล่อนก็คือพืชตระกูลแตง จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมาก โรงเรือน 1 หลัง ปลูกไว้ 650 ต้น ในครั้งแรกต้องรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นจะให้น้ำระบบน้ำหยด ตั้งระบบเปิดให้น้ำอัตโนมัติ วันละ 8 ครั้ง ใช้น้ำประมาณวันละ 2 คิว หรือ 2 ลูกบาศก์เมตรโดยจะมีคนงานคอยตรวจเช็คหัวน้ำหยดทุกวัน เพื่อไม่ให้อุดตันพร้อมกับเก็บใบและผลเมล่อนที่ไม่ต้องทิ้ง และฟาร์มที่นี้ใช้แกลบดำเป็นวัสดุในการปลูกโดยไม่ใช้ดิน ทำให้นอกจากควบคุมแมลงศัตรูพืชได้แล้ว แกลบดำยังสามารถอุ้มน้ำหรือกักเก็บน้ำได้ดีกว่าดิน ในส่วนของปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสำหรับระบบน้ำโดยเฉพาะ หรือปุ๋ยไฮโดรโพรนิกส์ แล้วปล่อยไปตามสายน้ำหยด สลับกับปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ โดยให้ปุ๋ยวันเว้นวันหรือเว้นสองวัน สลับกับการให้น้ำธรรมชาติ ทำให้สามารถประหยัดน้ำในการปลูกไปได้มาก ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งจึงไม่มี เหมือนการปลูกพืชชนิดอื่น
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปลูกใช้ระยะเวลาตั้งแต่เพราะต้นกล้า จนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 65-80 วัน ปัญหาที่พบคือ ในช่วงฤดูหนาวผลผลิตจะออกช้าและผลเมล่อนแตก เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยที่นี่เน้นการปลูกเพื่อส่งออก เน้นคุณภาพและความหอมหวาน เมล่อน 1 ต้น จะเก็บผลผลิตไว้เพียง 1 ลูก เพื่อดูแลก่อนตัดออกจำหน่าย เน้นตลาดบนและตลาดส่งออก โดยผลเมล่อน เกรด เอ ต้องมีน้ำหนัก 1.5 – 2.5 กิโลกรัมต่อผล ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนราคาในท้องตลาดกิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนผลที่มีขนาดเล็กลงมาราคาก็ลดหลั่นตามลงไป
“..ที่ฟาร์มเมล่อนของตนเอง เปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ และ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน โดยแต่ละปีเปิดรับนักศึกษาภาคเกษตร เข้ามาฝึกงานอย่างต่อเนื่อง และ ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม ก็ยังได้ให้นักเรียนที่สนใจเข้ามาทำงานในฟาร์ม เพื่อศึกษาเรียนรู้การปลูกเมล่อน และ พร้อมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ที่สนใจอีกด้วย..”
ถึงแม้เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการการดูแลที่ค่อนข้างละเอียด ต้องใช้ฝีมือและความอดทนในการปลูกค่อนข้างมาก ต้องลงทุนสูง ต้องมีการจัดการที่ค่อนข้างมากทั้งใน เรื่องของ น้ำ ปุ๋ย แมลงศัตรูพืช แต่เมื่อทดลองและมีประสบการณ์ในการปลูกที่ชำนาญ เมล่อน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน เกิดการจ้างงาน และ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน