วันที่ 15 มกราคม 2558 นายอิทธิพล ประเทือง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พล.16(น้ำโจน) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ออกตรวจปราบปรามการกระทำผิดฯ และติดตามผลการเข้าฟื้นฟูต้นสัก “บายพาส” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสองฝั่งลำน้ำแควน้อย หมู่ 1 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ที่ถูกผู้ไม่หวังดี ลอบสับกานลำต้น เพื่อให้ยืนต้นตายจำนวน 8 ต้น ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการทำ “บายพาส” โดย ดร.สาโรจน์ วัฒนสุขสกุล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญปรับปรุงไม้สัก ไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีทั้ง 8 ต้น การเชื่อมต่อโดยใช้กิ่งไม้สัก มาเชื่อมต่อลำต้นที่ถูกกานท่อน้ำเลี้ยงออก ขณะนี้เริ่มประสานกันเป็นอย่างดี กิ่งสักที่นำมาเชื่อมต่อกับลำต้นที่ถูกกาน เริ่มประสานและส่งน้ำเลี้ยงขึ้นสู่ลำต้นได้ คาดว่าไม้สักที่ได้ช่วยเหลือโดยวิธีบายพาสนี้จะเจริญเติบโตต่อไปได้
ไม้สักดังกล่าว ถูกผู้ไม่หวังดี บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ฯ กานต้นสักขนาดปานกลาง-ใหญ่ จำนวน 12 ต้น ให้เพื่อให้ยืนต้นตาย บริเวณม.1 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติสองฝั่งลำน้ำแควน้อย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต้นสักให้สามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป จนท.ป่าไม้ได้มาดำเนินการช่วยให้เติบโตต่อไปได้ด้วยวิธีบายพาส โดยสามารถช่วยเหลือได้ 8 ต้น ที่เหลือไม่สามารถช่วยเหลือได้เพราะถูกไฟเผาและบางต้นกานจนถึงแก่น ทำลายเนื้อเยื่อไปมากเกิน
การ”บายพาส” ต้นสัก เสมือนกับการทำบายพาสหัวใจให้กับคน โดยการเอากิ่งไม้สัก ที่ยังมีท่อน้ำเลี้ยง สมบูรณ์ มาแปะบริเวณที่ถูกกาน แล้วตอกตะปูติดเอาไว้ จากนั้น ได้นำซาแลนสีเขียว มาคลุมรอบบริเวณที่ถูกกานออก เพื่อให้น้ำเลี้ยงที่รากดูดขึ้นมา สามารถส่งน้ำและสารอาหารขึ้นไปหล่อเลี้ยง ลำต้นได้ แต่ต้นสักที่จะทำแบบนี้ได้จะต้องถูกกานไม่นานนัก และยังมีใบสีเขียวอยู่
ขณะที่หลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในจังหวัดพิษณุโลกนั้น จนท.ป่าไม้ มักจะตรวจพบผู้ที่บุกรุกเขตป่า ได้ใช้วิธีกานต้นไม้ให้ยืนต้นตายหลายแห่ง ทั้งต้นสัก และไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ การ “กาน” คือ วิธีการใช้ของมีคม ลอกเปลือก ตัดท่อส่งน้ำเลี้ยงรอบลำต้น เพื่อให้ต้นสัก ยืนต้นตาย ก่อนจะเข้าไปลักลอบตัดโค่น เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้ไม้สักคุณภาพดีวิธีนี้นิยมใช้กับต้นสัก ทางภาคเหนือ