จังหวัดพิษณุโลกจัดพิธีถวายราชสักการะเนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดปากพิงตะวันตก หมู่ 2 ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อดีตสนามรบครั้งสำคัญ พระเจ้าตากสินนำทัพหลวง ขึ้นมาตั้งสกัดกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ ที่บ้านปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก ทำการรบพุ่งกันเป็นสามารถ จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นมาเพื่อสักการะบูชา น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และยังสร้างพิพิธภัณฑ์ รวบรวมสิ่งของ และภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง ที่เล่าเรื่องราวยุทธศาสตร์บ้านปากพิงไว้ให้ลูกหลานได้รับรู้
วันที่ 28 ธันวาคม 2557 ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดปากพิงตะวันตก หมู่ 2 ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นาย วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้กอบกู้เอกราชให้กับชาติไทยเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
โดยที่บ้านปากพิงแห่งนี้ เคยเป็นอดีตสนามรบครั้งสำคัญ จนได้รับการกล่าวขานว่า บ้านปากพิงดินแดนยุทธศาสตร์ ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ณ วันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้าตากสินนำทัพหลวง ขึ้นมาทางลำน้ำแควใหญ่ เพื่อตั้งสกัดกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ ที่บ้านปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก และทำการรบพุ่งกันเป็นสามารถ การสงครามครั้งนี้ ไทยรบพม่าตั้งแต่เดือนอ้ายปีมะแม พ.ศ.2308 จนถึงเดือน 10 ปีวอก พ.ศ.2309 นับเวลาได้ 10 เดือน จึงเลิกรบ ทหารไทยสามารถขับไล่ทัพพม่า จนพ้นจากอาณาเขตประเทศไทยได้สำเร็จ และจับทหารพม่าเป็นเชลยศึกได้อีกเป็นจำนวนมาก
พสกนิกรชาวไทยจึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นมาเพื่อสักการะบูชา น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และยังสร้างพิพิธภัณฑ์ รวบรวมสิ่งของ และภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง ที่เล่าเรื่องราวยุทธศาสตร์บ้านปากพิงไว้ให้ลูกหลานได้รับรู้ตราบนานเท่านาน ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ความยากลำบาก และเสี่ยงอันตรายของบรรพบุรุษในการปกป้องประเทศชาติ ทำให้ไทยเป็นไทยดั่งเช่นทุกวันนี้ เรายุคปัจจุบันมีหน้าที่ที่จะรักษาประเทศชาติให้อยู่เย็นเป็นสุข
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (จีน: 鄭昭; พินอิน: Zhèng Zhāo; แต้จิ๋ว: Dênchao) มีพระนามเดิมว่า สิน (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน)[6] พระราชบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง ภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา[7] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี พระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[5]
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช ( ขอบคุณ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี )
ขอบคุณภาพ-ข่าว จากคุณสรุเชษฐ์ มากร