ชาวสวนยางพิษณุโลกร้อง 4 ข้อให้จังหวัดเหลียวแล บอกลูกเมียน้อย ไม่เคยสนใจ จากจังหวัดและอปท.เมื่อเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพียงแต่ยังไม่เคลื่อนไหวเรียกร้องราคายางตกต่ำ รอดูทิศทางสภาเกษตรกรชาวสวนยางพาราเหนือล่างก่อนเคลื่อนไหว
นายนายฉลอง อุ่นวงศ์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า หลังจากที่เย็นวันที่ 19ธค.57 ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับเครือข่ายชาวสวนยางพาราเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหายางพารา โดยมีตัวแทนเครือข่ายสวนยางพาราจังหวัดพิษณุโลกจำนวน 11 คนประชุมร่วมกับตัวแทนพนักงานสกย. พิษณุโลก ขึ้น ณ.ห้องประชุมสำนักงานสำนักงานสังเคราะห์การทำสวนยาง ต.วังดินสอ อ.วังทอง พิษณุโลก โดยจะนำข้อสรุปไปหาแนวทางการแก้ไขกับกลุ่มเกษตรกรในสายอาชีพต่างๆอาทิ มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด ที่จัดประชุมขึ้นที่ โรงแรมไพลินวันที่ 22 ธันวาคม 2557 เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดและนำเสนอปัญหาในระดับภาคเหนือตอนล่างต่อไป
ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ คือ
1.แก้ระเบียบการขอกู้เงินโครงการยางพาราของรัฐบาล เนื่องจากสถาบันเกษตรกรพิษณุโลก ไม่สามารถกู้ได้ หรือกู้ได้ก็ไม่เพียงพอต่อการทำกิจการ เพราะเป็นกลุ่มใหม่ มีทุนเรือนหุ้นน้อย แม้รัฐให้กู้ถึง 5 เท่าก็ตาม
2.ขอเงินอุดหนุนสร้างโรงงานผลิตยางแผ่นดิบในท้องถิ่น เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนมาซื้อน้ำยางสด เพื่อผลิตเป็นแผ่นดิบหรือแผ่นดิบรมควัน หวังดึงราคายางให้สูงขึ้น เพราะปัจจุบันชาวสวนยางในภาคเหนือนิยมทำยางก้นถ้วยจำนวนมาก ผลผลิตออกสู่ตลาดเพียบ ฉุดราคาดิ่งเหวทุกวันนี้
- ขอสนับสนุนจากจังหวัดและอบจ.พิษณุโลกในเรื่องพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง ให้มีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
4.ให้แก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าและพื้นที่ สทก. โดยให้กรมป่าไม้ระบุพื้นที่ให้ชัดเจน อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาบุกรุกทำลายป่า โดยแยกพื้นที่ป่าออกจาก สทก. และนำการจัดพื้นที่ สทก. ที่ได้ยกเลิกการต่ออายุ กลับมาใช้อีก
นายฉลอง อุ่นวงศ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากจังหวัดและอปท.เมื่อเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กลายเป็นลูกเมียน้อย ส่วนการช่วยเหลือของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกรณีเงินชดเชยรายแก่ชาวสวนยางพาราไร่ละ 1,000 บาทยังจ่ายช้า แม้รัฐมีข้อมูลเดิมอยู่แล้ว ก็คิดว่าจำนวนสวยยางคงเท่าเดิม ไม่ได้โค่นทิ้ง อาจเพิ่มเล็กน้อย กรณียางเปิดกรีดใหม่ ซึ่งจนท.ต้องลงพื้นที่สำรวจสวนยางเพิ่มเติม
หากจังหวัดพิษณุโลกยังไม่ดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง สภาเกษตรกรชาวสวนยางพิษณุโลก ก็คงต้องรวมตัวกันเรียกร้องราคาตกต่ำเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป เพียงแต่ขั้นแรกจะต้องหารือแนวทางกับสภาเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างอีกครั้ง ก่อนจะเคลื่อนไหวเรียกร้องราคายาพาราตกต่ำต่อไป