กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู พร้อมด้วยชาวบ้าน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เดินทางมาพบหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เพื่อเรียกร้องขอให้นำจระเข้น้ำจืดพันธุ์หายากของประเทศไทยกลับคืนถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หลังจากเจ้าหน้าที่นำตัวไปตรวจหา DNA เพื่อยืนยันสายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.นครสวรรค์ นานกว่า 1 เดือนแล้ว
วันที่ 11 ธันวาคม 2557 นายโม คำคูณประธานกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู เป็นตัวแทนของชาวบ้านต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เดินทางมา พบกับ นายทักษิณมงคลคมรัตน์ (มงคล-คะ-มะรัตน์ ) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอคืนจระเข้น้ำจืดพันธุ์หายากของประเทศไทยใกล้สูญพันธุ์กลับคืนถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลวงหลวง ที่ 5 (สล.5) อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง นำตัวส่งไปตรวจหา DNA เพื่อยืนยันสายพันธุ์จระเข้ว่าเป็นสายพันธุ์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์จริงหรือไม่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทางชาวบ้านจึงมาติดตามความคืบหน้าการตรวจหา DNA และระยะเวลาในการไปรับตัวจระเข้กลับคืน
นอกจากนี้ นายแวะ สนใจ ประธานกลุ่มเที่ยวไทยไปชมพูได้มายื่นหนังสือเพื่อขออนุญาตให้ทางสมาชิกกลุ่มเที่ยวไทยไปชมพู เพื่อนำพาคณะครู นักเรียน ตลอดจนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เพื่อเป็นการศึกษา และกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านต.ชมพู อ.เนินมะปรางให้คึกคักมากขึ้น จากการเนื่องจาก อช.ทุ่งแสลงหลวงมีแหล่งท่องเที่ยวนาสนใจมากมาย
ด้านนายทักษิณ มงคลคมรัตน์หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงกล่าวว่า ทางอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง หลังจากได้รับหนังสือจากชาวบ้านแล้วจะดำเนินการสอบถามไปยังที่ นย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.นครสวรรค์ อีกครั้งว่าจระเข้น้ำจืดที่ชาวบ้านจับได้นั้นมีอาการสมบูรณ์ 100 % หรือยัง ซึ่งหากหายบาดเจ็บก็จะติดต่อขอกลับมาปล่อยที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ชาวบ้านบ้านปลวกง่าม ม.5 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ต่างแตกตื่นกันมาชมจระเข้ ที่อยู่ในกรงเหล็ก เข้ามาติดกับดักของชาวบ้านที่วางไว้ริมคลองชมพู บ้านปลวกง่าม โดยพบว่าเป็นจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 1.8 เมตร หลังจากจับได้แล้ว ชาวบ้านได้นำจระเข้ใส่กรงมาเก็บรักษาไว้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สล. 5 และต่อมาได้นำไปส่งพิสูจน์ตรวจหา DNA เพื่อยืนยันสายพันธุ์จระเข้ว่าเป็นสายพันธุ์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์จริงหรือไม่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.นครสวรรค์