นายสวน เจริญสุขรุ่งเรือง กำนันต.วัดพริก อ.เมืองพิษณุโลก ได้ใช้ชีวิตในแบบเศรษฐกิจพอเพียงปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ไว้ข้างบ้าน ใช้พื้นที่ส่วนที่เหลือปลูกข้าวโพด มะละกอ ลดรายจ่ายสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวและยังได้ส่งเสริมให้ลูกบ้านได้ทำตาม หลายครัวเรือนเริ่มใช้พื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกผักสวนครัว
วันที่ 2 ธ.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านท่าโรง ต.วัดพริก อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีกำนันตำบลวัดพริกได้นำการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้กับครอบครัวตนเองได้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัวตามรอบรั่วเขตบริเวณบ้านที่สามารถนำมาปรุงอาหารรับประทานได้ นายสวน เจริญสุขรุ่งเรือง อายุ 59 ปี กำนันตำบลวัดพริก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้ใช้ชีวิตในแบบเศรษฐกิจพอเพียงปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ไว้ข้างบ้าน ใช้พื้นที่ส่วนที่เหลือปลูกข้าวโพด มะละกอ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวถึงแม้จะได้ไม่มากนักแต่ก็ “พอเพียง”
กำนันสวน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนเองและครอบครัวได้ทำนาเหมือนกันชาวบ้านทั่วไป แต่เป็นการลงทุนสูงและเสี่ยงที่ขาดทุนเพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างทั้งใช้น้ำการทำนาจำนวนมาก และเรื่องราคาที่ลดลงตลอด ตนเองจึงได้พยายามศึกษาและดูงานตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งได้เริ่มกลับเปลี่ยนแปลงนามาเป็นแปลงข้าวโพดสวิตซ์ ไว้ข้างบ้านจำนวน 3 ไร่ ซึ่งเป็นพืชที่ใช้งบลงทุนไม่มาก และใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 60 วัน ซึ่งต่างจากการปลูกข้าวที่ต้องใช้เวลา ถึง 120 วัน และใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งราคาข้าวโพดตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท ทำรายได้ต่อไร่ประมาณ 7-8 พันบาท นอกจากนี้พื้นที่ว่างบางสวนยังได้นำมะละกอ พันธุ์ฮอลแลนด์ และมะละกอพันธุ์แขกดำ มาปลูกไว้เพื่อรับประทานและสร้างรายได้เพิ่มอีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ตนเองจะเน้นปลูกพืชผักสวนครัวริมรั้วที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้เลย ทั้ง พริก มะเขือ ถั่วพลู แตงกวา กะเพรา และผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด เราจะเน้นว่า สามารถนำพืชผักเหล่านี้มาประกอบอาหารได้เลยโดยที่ตื่นเช้ามาไม่ต้องออกไปหาซื้อผักหรือวัตถุดิบนอกบ้านเลย ส่วนพืชผักที่เหลือก็สามารถเก็บนำมาขายได้อีกด้วยเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้
หลังจากที่ตนเองเริ่มทำตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงแล้วสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนได้แล้วนั้น ตนเองยังได้ส่งเสริมให้ลูกบ้านได้ทดลองทำตาม ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างเริ่มไถกลบพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงเริ่มหันมาทำกันอย่างจริงจังและยังมีลูกบ้านบางรายที่เคยไปทำงานต่างจังหวัดตามโรงงานเพื่อขายแรงงาน ก็เริ่มกลับมาอยู่ภูมิลำเนาบ้านเกิด เพื่อใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพ่อหลวง
——————————————————————————————————————————