ชาวบ้าน 3 ตำบล ของ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก รวมตัวยืนหนังสือร้องศูนย์ดำรงธรรมจ.พิษณุโลก กรณีภาครัฐขอคืนที่ดินทำกิน หวั่นถูกจัดสรรให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจนหมด คนในพื้นที่จะไม่มีที่ดินทำกิน
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 ธ.ค. 2557 ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายจเร มนตรี อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 9 ต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ตัวแทนชาวบ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน 3 ตำบล จาก ต.ห้วยเฮี้ย ต.เนินเพิ่ม และ ต.หนองกระท้าว อ.นครไทย จำนวนกว่า 120 คน เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อศูนย์ดำรงธรรมกรณีขอคืนที่ดินทำกินซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวน หรือเขตป่าเสื่อมโทรม จำนวนกว่า 12,000 ไร่ โดยมีนายอนันต์ พรหมดนตรี ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก เดินทางมารับเรื่องและชี้แจงให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน
ด้าน นายจเร มนตรี อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 9 ต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กล่าวว่า หลังจากก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้ผ่อนปนให้สามารถเข้ามาทำกินได้ แต่หลังจาก คสช. ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรภายใต้คำสั่งที่ 64/2557 และ66/2557 โดยการออกแผนแม่บทการจัดการป่าไม้นำไปสู่การดำเนินการทวงคืนฝืนป่า ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องชุมชนในหลายพื้นที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้นโยบายระบุไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ หรือผู้ที่มีรายได้น้อย จึงทำให้วันนี้พวกชาวบ้านใน 3 ตำบล ของ อ.นครไทย เดือนร้อนเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ยึดที่ดิน จึงต้องเดินทางมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอคืนที่ดินทำกิน โดยมีข้อเรียกร้อง คือ ให้เร่งรัดการดำเนินการตามข้อเสนอของเครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่างที่ได้นำเสนอต่อหัวหน้า คสช. ผ่านกองทัพภาคที่ 3 ให้เกิดรูปธรรมในทางปฏิบัติ และยุติการจับกุมพี่น้องชุมชนในช่วงเวลาการทำงานร่วมกันของฝ่ายนโยบายและคณะกรรมการภาคประชาชน
ด้าน นายอนันต์ พรหมดนตรี ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ตนเองทราบถึงข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงให้กับประชาชนถึงความเร่งด่วนในการจัดสรรที่ดินให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง) จากภูขัด จำนวนนับพันครัวเรือน จึงจะต้องนำพื้นที่ดินป่าสวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรม จัดสรรให้เป็นธรรม โดยหากประชาชนที่ทำกินอยู่แล้ว เบื้องต้นจะให้ครอบครัวละ 20 ไร่ก่อน จากนั้นหากมีลูกหลานสร้างเป็นครัวเรือนก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนั้น ซึ่งเบื้องต้นทางชาวบ้านต่างเข้าใจหวั่นว่าจะถูกยึดคืนทั้งหมด แต่ได้รับฟังการชี้แจงแล้วก็พร้อมใจเดินทางกลับไปภูมิลำเนาตามเดิม.