ครบรอบการสถาปนา 12 ปี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก เฟ้นหาบุคคลที่เป็น สุดยอดนักคิดของเมืองพิษณุโลก 12 ท่าน เพื่อเชิดชูเกียรติและบันทึกประวัติ แต่ละบุคคลให้เป็นแบบอย่างและเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ สร้างคุณค่าและเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม
1.ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ โรงงานคัดแยกขยะ เพื่อรีไซต์เคิ่ล จำกัด
“ในทุกครั้งที่เกิดปัญหาต้องคิดเสมอว่าแก้ได้ “ชีวิตนี้มีปัญหาทุกวัน ปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่ ปัญหาวิกฤต ปัญหาหนักๆ ชีวิตนี้ถ้าไม่มีปัญหาจะทำให้เราเสื่อมสมรรถภาพทุกอย่าง โดยเฉพาะความคิดและการกระทำ มีปัญหาสติปัญญาจึงเกิด ค่อยๆแก้จากเล็กไปหามาก แก้ได้เอง ไม่มีอะไร คิดบวกอย่างเดียวทุกอย่างสำเร็จ “
“ตลอดระยะเวลาดำเนินกิจการมากว่า 30 ปี จนได้รับขนานนามว่าเป็น ”ราชารีไซเคิล” ดร.สมไทย ได้พัฒนาธุรกิจให้กลายเป็นระบบแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 800 สาขา ทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ที่ต้องการเป็นแฟรนไชส์ของวงษ์พาณิชย์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องผ่านการอบรมการคัดแยกขยะเพื่อรีไซต์เคิ้ล แล้วนำขยะรีไซเคิ้ลให้กับวงษ์พาณิชย์ “
“ถึงวันนี้ความสำเร็จของวงษ์พาณิชย์ได้ก้าวไปสู่ระดับโลกอีกครั้ง เมื่อเป๊ปซี่-โคล่า จับมือเป็นพันธมิตรกับวงษ์พาณิชย์ ส่งเสริมการคัดแยกและนำขวดพีอีที (PET) ใช้แล้วเข้าสู่วงจรรีไซเคิ้ล อย่างเป็นระบบ โดยให้ราคาเป็นแรงจูงใจผลักดันปริมาณ ขวด PET เพิ่มราคารับซื้อขวด PET ของผลิตภัณฑ์ในเครือเป๊ปซี่โคล่าทั้งประเภทขวดใสและขวดสีอีกกิโลกรัมละ1บาท จากราคากลาง รับซื้อขยะรีไซเคิ้ลลดปริมาณขยะ วงษ์พาณิชย์ พร้อมรณรงค์ให้ร้านค้าและผู้บริโภคร่วมรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการรีไซเคิ้ลด้วย “
2.พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน
“ผมเคยพูดเมื่อ10ปีที่แล้วว่า พิษณุโลกจะเติบโต จะต้องคิดผังเมืองไปอีก10ปี 20ปี ข้างหน้า ว่าเขตภายในจะเป็นสีแดง สีเหลืองได้แล้ว มันไม่ใช่สีเขียวแบบนี้ จนแล้วจนรอดก็ยังเป็นสีเขียว ผมเคยคุยเรื่องสนามบินว่าอีก 5ปี ข้างหน้า คนไทย คนพิษณุโลกจะมา จะใช้สนามบินนานาชาติ แต่ว่าทางรัฐบาล ก็ไม่ยอมประกาศ ก็คือมองไม่ออก เราจะไปไซ่ง่อน ย่างกุ้ง ออกลาวเลย ผมทำเรื่องแนวคิดในการจัดตั้งสี่แยกอินโดจีนขึ้นมา ยุทธศาสตร์ขนาดสี่แยกอินโดจีน ผมมองเห็นว่าภาคเหนือตอนล่างเป็นเหมือนภูมิประเทศในส่วนที่เป็นผืนดิน การที่มีศูนย์อุตสาหกรรม ศูนย์โลจิสติกส์ที่กรุงเทพแห่งเดียวไม่พอ ประกอบกับทางประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ “
“เมื่อเราเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ผมคิดหลังจากที่ได้เปลี่ยนเป็นอาเซียน เราไม่เป็นสี่แยกอินโดจีนต่อไปแล้ว เราจะเป็นศูนย์โลจิสติกส์ จังหวัดพิษณุโลก ก็เป็นจุดสำคัญ ผมคิดว่าประเทศมหาอำนาจจะมองเห็นจุดนี้เป็นสำคัญ เขาจะมาสร้างศูนย์อุตสาหกรรม ศูนย์ขนส่ง ศูนย์โลจิสติกส์ แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้เตรียมการอะไรเลย ผมจึงได้เสนอโครงการนี้ไปให้รัฐบาล แล้วก็ชี้ให้เห็นว่า นี่คือสัญญาณอันตราย ถ้าเราไม่สามารถที่จะจับมือกับมหาอำนาจ เหมือนกับสิงคโปร์ในขณะนี้ เขาเป็นประเทศเล็กนิดเดียว แต่เขาสามารถจับมือกับประเทศต่างๆได้ เพราะเขาสามารถที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศที่ติดต่อกับเขา แต่ไทยเขายื่นมือมา เราไม่มีอะไรไปจับมือกับเขา เขาก็ปล่อยมือเราไป เราก็จะสูญเสียประโยชน์ แล้วความที่เราจะมีอำนาจในทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีอิทธิพลทางการเมืองหายไป คนต่างประเทศจะเข้ามาอยู่ครองมากขึ้นๆ ความเป็นไทยของเรา ความเป็นศักดิ์ศรีของเรา รัฐบาลของเรามีอิทธิพลน้อยลง “
3.ดร.สมชัย หยกอุบล ประธานกรรมการบริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทย จำกัด
“เริ่มต้นการทำธุรกิจ คือ แค่ให้ธุรกิจมันเริ่มต้นแล้วต้องตั้งหลัก พอเราตั้งหลักได้ สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือ ความฝัน ที่เขาเรียกว่า What is your dream? ถ้าคุณไม่มีความฝัน มันก็จะไม่มีแรงบันดาลใจ เราก็จะไม่มีการขับเคลื่อน สมมติคน2คน แต่งงานกัน คุณก็มีความฝันว่า ต่อไปเราต้องสร้างธุรกิจ ต่อไปเราจะต้องสบาย ธุรกิจเราจะต้องใหญ่ ลูกเราจะต้องสบาย เป็นความฝันของเรา อย่างทางโรงงานผมฝันว่า ผมจะเป็นเบอร์1 ของเมืองไทย ต้องเป็นเบอร์1 ของอาเซียน เราต้องตั้งความฝันนี้ขึ้นมา เพราะความฝันที่เรามีอันนี้ ถ้าเกิดใครถามเราๆตอบความฝันไม่ได้ ก็แสดงว่าเราไม่มีความชัดเจนในเรื่องของธุรกิจ เราไม่รู้ธุรกิจจะไปถึงแค่ไหน อาจจะเลิกระหว่างทาง วอกแวกตลอดเวลา นั่นคือไม่มีความฝัน ไม่มีความแน่วแน่ที่จะไปให้ถึงฝัน หมายถึงว่าเป็นเป้าหมายที่เราจะไปถึง เพราะความฝันมันจะมากำหนดเป้าหมายของธุรกิจ มันมากำหนดวิสัยทัศน์ของธุรกิจ มันจะมากำหนดพันธกิจ แล้วก็ในเรื่องของแผนต่างๆ รวมถึงนโยบายขององค์กรที่จะให้มันเป็นไป “
“ผมเองมีความฝันชัดเจน ผมก็มาตั้งเป้าหมายว่า จะทำอย่างไรที่จะเป็นเบอร์1 ของรถเกี่ยวข้าว ต่อไปเราจะยึดเมืองไทยให้ได้ ขยายไปในอาเซียน จะขยายไปในโลกที่ 3 ที่อยู่บริเวณ เส้นศูนย์สูตร ทำอย่างไรเราจะเป็นเบอร์1 ของเมืองไทยให้ได้ เราคิดว่าการที่จะเป็นเบอร์1ของเมืองไทยได้คือ ทำให้คนซื้อเขาประสบความสำเร็จ เพราะว่าคนไหนที่เขาซื้อของเรามาแล้วได้ทุนคืนและกำไร เขาจะซื้อซ้ำแล้วไปบอกต่อ เขาเรียกว่า Working together,Success together ก็คือสำเร็จร่วมกัน ถ้าเราเกิดมีความฝันก็เป็นเป้าหมาย เป็นนโยบายขององค์กรที่จะต้องยึดเอาไว้ แล้วก็ทำต่อไปให้มันสำเร็จ ต่อไปจะต้องสร้างระบบการทำงานที่ดีและให้ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้ว SMEs ที่เราทำงานกันมาส่วนใหญ่จะไม่ได้มีการกำหนดเรื่องของกระบวนการทำงาน เลยทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานไปในทิศทางเดียวกันหมดทั้งองค์กรได้ ก็เกิดความขัดแย้งระหว่าง พนักงานต่อพนักงานในแผนก ระหว่างแผนกต่อแผนกในฝ่าย ระหว่างหลายฝ่ายในองค์กร แล้วก็เกิดการทะเลาะกันในองค์กร ฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่ของผู้บริหารคือ หมั่นแก้ปัญหารายวันที่เกิดขึ้น ทำให้งานไม่ออกมาเกิดการเชื่องช้าล้าสมัยสู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าคุณมีความชัดเจนในเรื่องของระบบ การทำงานที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกัน ถ้าคุณมีความชัดเจนในเรื่องของเป้าหมาย หรือคุณจะให้ความรู้พัฒนาองค์กร สามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้การปรับตัวต่างๆได้ง่าย คุณจะสามารถทำงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ “
——————————————————————————-
4.นพ.สุเทพ นิ่มพิทักษ์พงศ์ ประธานโรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก
“ผมยังคงตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิต เพื่อที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น และสังคมที่เราพึ่งพาอาศัยมาหลายสิบปีแห่งนี้ ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอยู่มากมาย ที่ยังรอคอยความช่วยเหลืออยู่ หากเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เรารักและสามารถเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเราผู้อื่น รวมถึงสังคมรอบข้างแล้ว เราจะมีความมุ่งมั่นและมีแรงผลักดัน ให้ทำสิ่งนั้นจากภายในใจของเราเอง โดยมิได้คิดถึงเรื่องเงินทองของนอกกายที่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถเอาติดตัวเราไปได้ จะมีแต่คุณความดีที่เราทิ้งไว้เบื้องหลังเท่านั้น สิ่งที่อยากเห็นสังคมต่อไปนี้ และการปฏิบัติตัวของคนในสังคมนั้น ความใส่ใจและเอาใจใส่ผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่คนเรามักจะมองข้าม อาจจะเป็นเพราะสภาพการแข่งขันกันเอาตัวรอดในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆวัน ผมอยากเห็นผู้คนที่ใช้ชีวิตถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เหมือนในสมัยก่อน ใครมีอะไรก็เอามาแบ่งปันกัน ใช้ชีวิตอย่าพอเพียงในแบบที่เราและครอบครัวมีความสุข ที่สำคัญอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพ เพราะมีเงินมากมายเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญเท่ามีสุขภาพดี ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันหน้า ดีกว่ามาหาหมอรักษา “
“ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการหลายๆท่าน คงจะรู้สึกถึงความยากลำบากในการทำธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการที่มีคู่แข่งทางธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศ แต่เป็นต่างประเทศด้วย ซึ่งหากท่านอาจจะมองว่าการแข่งขันจะมีผลเพียง “แพ้” แต่ทำอย่างไรให้ทุกคนได้ “ชนะ”หรือ “เสมอ” กัน ซึ่งหากทุกคนมองแบบนี้เหมือนกัน ก็จะไม่มีผู้ใดที่จะพยายามทำให้ผู้อื่นต้อง”
”แพ้” จะมีแต่ความพยายามที่จะพาทุกๆคนเดินไปด้วยกัน และการทำธุรกิจต้องมองยาวๆ เอาเปรียบผู้บริโภคและสังคมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเร็วๆไม่ได้ ช่วยให้ธุรกิจยั่งยืน เพราะธุรกิจจะอยู่ได้ก็เพราะสังคมและคนในสังคมอยู่ได้ด้วยเช่นกัน.”
- ดร.สว่าง ภู่พัฒนพิบูลย์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
“ผมมองว่าในอนาคตพิษณุโลก มันจะเป็น Multi Cultural จะเป็นสังคม วัฒนธรรม จะมีคนหลายเผ่าพันธุ์ คนหลายเมืองมาอยู่ในพิษณุโลก เดี๋ยวนี้เดินเข้าไปจะไม่เห็นคนเมืองพิษณุโลก แต่เห็นคนจีน เวียดนาม คนต่างชาติ ผมมองอนาคตข้อห่วงใหญ่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อสังคมเราเป็นวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ Multi Cultural สังคม วัฒนธรรมที่หลากหลายคนเมืองจะอยู่ลำบาก คนเมืองจะขายที่ขายทางไปอยู่ที่อื่นหมด”
“ทิศทางการเติบโตของเมืองพิษณุโลก การวางแผนเราเป็นประชาธิปไตย จะวางแผนยากกว่าประเทศคอมมิวนิสต์ เพราะสังคมคอมมิวนิสต์มันสั่งได้ บ้านเราประชาธิปไตย แก่งเสือเต้นอย่างเดียว 20 ปี ยังสร้างไม่ได้ เพราะฉะนั้นสังคมเมืองพิษณุโลก ถ้าจะมองให้ดี ที่ไหนแหล่งทิ้งน้ำ ที่ไหนแหล่งทิ้งขยะ มองแค่ 2 อย่าง ที่ทิ้งขยะในอนาคตของเมืองพิษณุโลกอยู่ตรงไหน บ่อน้ำทิ้งของเมืองพิษณุโลกอยู่ตรงไหน ด้านต่ำสุด คือทะเลแก้ว ถ้าจะเอาน้ำทิ้งของเทศบาล4เมือง มันต้องออกมาทางทะเลแก้ว ถ้าจะทำที่ทิ้งขยะ ที่ทิ้งน้ำเสีย จะต้องมีเอ็นจีโอ เข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ทำไม่ได้อีก ทิศทางการเจริญเติบโตในอนาคต ต้องมีสักคนมีอำนาจ ในอี ก30ปีข้างหน้า จะใช้ที่ที่ตรงนี้ทิ้งขยะของเมือง และน้ำทิ้งจะต้องออกทางทิศนี้ แล้วก็ฝ่ายวางผังเมือง สำนัก ผังเมือง เทศบาลเมือง ใครก็ตามต้องร่วมมือกันในอีก10-20ปี พิษณุโลกต้องเป็นแบบนี้ สรุปคิด อนาคตตรงไหนที่ทิ้งขยะ ตรงไหนที่ทิ้งน้ำตรงไหนไม่รู้ แต่มันต้องมีใครสักคนที่กล้าพูดว่าจะเอายังไง กับอีก 10-20 ปี ข้างหน้า “
6.จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
“เรื่องปิดพิพิธภัณฑ์ผมเคยคิด แต่ทำไม่ได้เพราะผูกพันกับมันมาทั้งชีวิต ผมต้องทำงานของผมให้เสร็จ ต้องทำให้ถึงที่สุด ตอนนี้ผมอายุมากแล้ว ถ้าไม่รีบอาจเป็นอะไรไปก่อน ต้องจัดแสดงทุกอย่างให้ครบเพื่อไม่ให้ความรู้ตายไปพร้อมกับตัวผม หลังจากนั้นถ้าจะปิดก็คงเป็นเรื่องของอนาคต แต่โดยส่วนตัวทำสุดความสามารถแล้ว “
“การทำพิพิธภัณฑ์เป็นการสร้างชาติอย่างหนึ่ง ผมหวังจะเผยแพร่ความรู้ให้คนอย่างกว้างขว้าง เพราะพิพิธภัณฑ์คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นตำราประวัติศาสตร์ในรูปสิ่งของ สะท้อนว่าคนรุ่นหนึ่งคิดอย่างไร ถ้าไม่เก็บเรื่องเหล่านี้ไว้เราจะไม่มีราก ไม่รู้จักตัวเอง ไม่ภูมิใจในตัวเอง ปัญหาบ้านเมืองก็แก้ไม่ได้เพราะไม่มีองค์ความรู้”
“ที่ผ่านมาผมคิดว่าผมทำงานที่คนอื่นมองข้าม ดูแลของล้าสมัย และบางทีมันกลายเป็น แรงบันดาลใจให้พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นตามมา ต่างกับสมัยก่อนไม่มีเอกชนลุกขึ้นมาทำพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ผมหวังคืออยากให้คนมาดู อยากให้เด็กมาเรียนรู้กลุ่มคนที่เข้ามาดูแลพิพิธภัณฑ์ ส่วนมากเป็นคนที่ตั้งใจมา อีกส่วนคือครูที่พานักเรียนมาทัศนศึกษาจากหลายจังหวัด ผมเชื่อว่า เรื่องพวกนี้จะติดไปกับจิตใจพวกเขาอย่างแน่นอน”
- คุณคัมภีร์ ฐานโชติ ซีอีโอ ประธานกรรมการบริษัทเมเจอร์มอลล์ จ.พิษณุโลก และในเครือข่าย
“ผมช่วยพ่อทำงานตั้งแต่เล็กๆ เกิดมาผมเป็นลูกชายคนโต อายุ11ปี ผมช่วยพ่ออย่างเต็มตัว ผมไม่เคยแบบมือขอตังค์พ่อเลยตั้งแต่อายุ 11ปี พออายุ 13 ปี ขับรถส่งของแล้วคุณพ่อผมทำเฟอร์นิเจอร์เป็นตึกแถว 2ห้องในอดีต ผมเกิดมาก็เห็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว เลยมองว่า สิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เกิดซึมซับตัวเราเองโดยอัตโนมัติ สิ่งแรกที่ตัวเองคิดจะทำ คือเฟอร์นิเจอร์
พอถึงจุดหนึ่ง ตอนผมอายุ 22ปี มันมีเหตุจำเป็นที่ผมจะต้องเดินออกมาจากบ้าน เป็นปัญหาครอบครัว เดินออกมาตัวเปล่า มีเงินติดตัว 16,000 บาท มีหนี้ติดตัวอีก 100,000 บาท หนี้มาจากที่แต่งงานเอง ผมเล่นแชร์เพื่อขอสาว ก็เล่นแชร์มาได้ 140,000 บาท อยู่บ้านได้ 4-5 เดือน ก็มีปัญหาเราต้องใช้หนี้เดือนละ 10,000บาท มันทำให้ชีวิตต้องสู้ ก็ไปเช่าตึกห้องเดียวเล็กๆปัจจุบันอยู่หน้า โรงพยาบาลตา นั่นคือจุดเริ่มต้น ของการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เรา2คนทำ4อาชีพ ตื่นตั้งแต่ตี5 เลิกงาน4ทุ่ม ช่วยงานกัน แต่ปัจจุบันแฟนคนนั้นเสียชีวิตแล้ว “
“ผมชอบคำว่า ไอเดีย แปลตรงๆ คือความคิดหรือจินตนาการร้านแรกของผม ชื่อไอเดีย ยังไม่มีคำว่าเฟอร์นิเจอร์ เพราะเป็นตึกแถวห้องเดียว ตอนนั้นผมก็ขายประกัน ทั้งขายของ เงินผ่อน เปิดขายของหน้าร้าน ส่วนแฟนผมเขาจบมาจากอินเดียก็สอนพิเศษภาษาอังกฤษในร้าน ผมก็ออกขายนอกร้านด้วย ขายประกันด้วย ทำทุกอย่าง แต่ผมเป็นคนตรงไปตรงมา เราก็มีเครดิต ที่จะไปต่อยอด เราซื้อของมาก็ได้เครดิตยากกว่าคนอื่น เขาก็ช่วยเรา ทำให้เราไปต่อได้ ตึกแถว ตอนนั้นเดือนละ 7,000 บาท “
“ผมออกจากบ้านมาเดือนตุลาคม ปี 2533 พอเดือนมกราคม 2535 เช่าตึก 2ห้อง ปัจจุบันอยู่หน้าโรงพยาบาลอินเตอร์เวชการ ปี 2535 ใช้ชื่อ ไอเดียเฟอร์นิเจอร์ เพราะเป็นตึกใหญ่ 2 ห้อง เปิดวันที่ 9 มกราคม 2535 ที่ต้องย้ายเพราะว่ามีคู่แข่งมาเปิดตัวติดกัน รู้ว่าสู้ไม่ได้ก็ต้องรู้จักถอยให้เป็น ผมก็ย้ายหนี ตอนนั้นจุดพลิกผัน พอขึ้น2 ห้อง ยอดขายเพิ่มขึ้น เริ่มเห็นโลกกว้างขึ้น ถ้าวันนั้นไม่มีคู่แข่ง เราก็คงเปิดอยู่ที่เดิมไปเรื่อยๆ พอมีคู่แข่งก็ทำให้ผมถอย แต่เป็นการถอยที่ดีที่สุดในชีวิต”
“นิสัยของผม ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ พ่อของผมท่านมีหนังสือเป็นหีบๆ สมัยก่อน เป็นหีบสังกะสีเหล็ก ผมอ่านหมดเลย ทุกอย่าง เพราะพ่อผมมีหนังสือสารพัด แม้กระทั่งนิยาย สงคราม แต่ผมอ่านหมด สมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ต ผมเป็นคนอ่านหนังสือเร็วมากคนหนึ่ง ฉะนั้นผมเป็นคนอ่านเยอะ ผมไม่ใช่นักคิด แต่น่าเป็นนักอ่านมากกว่า แต่หลังๆ ไม่ค่อยได้อ่าน เพราะงานเยอะ เวลาผมอ่านเจอในเน็ตก็เอามาโพส ผมโพสเพราะว่าสอนตัวเอง ใครอยากมาอ่านก็ อ่านตามเรา นี่คือสิ่งที่ผมชอบ เป็นการอ่านที่เอามาแชร์ให้พรรคพวก เมื่อก่อนผมอ่านหนังสือพิมพ์วันละ 3 ฉบับ แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้อ่านเลย เพราะงานเยอะเวลาน้อย ผมก็ยังเรียนไม่จบ เรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ผมมองว่า ผมเรียนแล้วเอามาใช้ ถ้าผมเรียนเอาปริญญา เรียนการจัดการ ผมว่าเรียนเก่งครูอีก ผมไม่ได้เรียนเพื่อเอาใบปริญญา แต่ผมเรียนสิ่งที่อยากรู้ในสิ่งที่ผมไม่รู้ กฎหมายมันมีอะไรเยอะแยะที่ผมไม่รู้ แล้วเราทำธุรกิจหลายอย่าง เราต้อง เจอคนหัวหมอแน่ๆ ค่อยๆ เรียนไป ผมเข้าเรียนทุกเสาร์-อาทิตย์ ผมพยายามไปนั่งฟังทุกครั้งที่มี โอกาสตอนนี้ยังอยู่ปี 3 อยู่ครับ คิดว่าตั้งใจจะเรียน 5 ปี”
- คุณบรรเลง รอบบรรเจิด ประธานกรรมการบริษัทท็อปแลนด์ พลาซา จำกัด
“ในช่วงวัยเด็ก ชีวิตผมค่อนข้างลำบากยากจน ทำงานเป็นเสมียนที่ร้านค้าไม้แปรรูป เล็กๆแห่งหนึ่ง ผมไม่ได้เรียนบัญชีมาแต่ค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเองจากรูปแบบของเสมียนคนเก่าที่ออกไป พอมาเมื่อปี 2500 เกิดไฟไหม้พิษณุโลกครั้งใหญ่ ตอนนั้นร้านค้า บ้านเรือนถูกไฟไหม้ ทุกครอบครัวก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กันใหม่ ผมเองก็ไม่มีทรัพย์สินอะไร ก็ต้องหางานทำประทังชีวิต แล้วตอนนั้น ผมและน้องๆก็มาตั้งแผงขายของอยู่ที่ริมถนนเอกาทศรถ ตรงสถานีรถไฟ ขายพวกของใช้เบ็ดเตล็ด ขายเสื้อผ้าบ้าง พอทำไปได้ประมาณ 1 ปี ผมก็ดิ้นรนหาเซ้งตึกแถว 1 คูหาข้างๆ ตลาดเทศบาล 3 เปิดร้าน สิริภัณฑ์ ผมกับภรรยา (คุณสมถวิล รอบบรรเจิด) ช่วยกันทำ ช่วงนั้น บริษัทเลม่อนที่รับเหมาสร้างทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก เส้นมิตรภาพมีวิศวกร ผู้ใช้แรงงานเข้า มาทำงานจำนวนมาก ทำให้การจับจ่ายใช้สอยมีพอประมาณ ผมขายของได้ดี เศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น ไม่กี่ปีต่อมา ผมก็ขยับขยายซื้อตึกแถวอีก 2 คูหาเปิดร้าน สิริภัณฑ์ 2 ขายเสื้อผ้า สินค้าเบ็ดเตล็ด”
“จุดที่เริ่มจากเล็กแล้วก็ขยายมาเรื่อยๆ กระทั่งมาเป็น ห้างสรรพสินค้าท็อปแลนด์อาเขต ผมคิดและตั้งใจอยู่อย่างเดียว คือผมแค่ลงมือทำและตั้งใจที่จะทำให้เป็นห้างสรรพสินค้าที่ ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ มีที่จอดรถใต้ดิน เป็นอาคาร 5 ชั้น ชั้นบนสุดเราลงทุนทำโบว์ลิ่งขนาด 12 เลน ทำร้านอาหาร มีอาหารอร่อยหลายเมนูให้บริการ แล้วหลังจากนั้น 2 ปี ผมซื้อโรงภาพยนตร์ ศรีพาณิชย์พร้อมที่ดิน 2 ไร่เศษ ดัดแปลงเป็นอาคาร ชั้น 1 เป็นสรรพสินค้า ส่วนชั้นบน เป็น ภัตตาคารใหญ่ ซึ่งมีเวทีดนตรีและนักร้อง พอได้ทำที่ท็อปแลนด์อาเขตแล้ว ไม่นานผมก็คิดว่าต้องทำต้องขยายให้ใหญ่กว่านี้ หยุดไม่ได้”
“ผมทำแต่ละโครงการ ส่วนใหญ่ผมทำได้สำเร็จ ก่อนจะทำ ผมคิดว่าธุรกิจที่เราจะทำต่อไป มันเป็นธุรกิจที่ขาขึ้นหรือขาลง แล้วธุรกิจนี้จะทำกำไรได้ดีหรือไม่ มีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน แล้วเรามีจุดแข็งจุดอ่อนอยู่ตรงไหน จะคิดว่า ถ้ามันเกิด Fail ขึ้นมา เราจะอยู่ได้ไหม คือ คิดเผื่อ ไว้ เพราะว่าธุรกิจเรามองได้สองด้าน 1.ประสบความสำเร็จ 2.ล้มเหลว ถ้าสำเร็จก็เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่เราตั้งไว้ แต่ถ้าหากมัน Fail ดีไม่ดีเราไม่ได้นับ 1 แต่มันนับถอยลง ไม่รู้จะถอยไปกี่ก้าว อาจไม่ฟื้นเลยก็ได้”
9.คุณฐิติ วิศวชัยวัฒน์ ประธานที่ปรึกษาโรงเรียนสิ่นหมิ่นและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมจีน
“อย่าลืมว่าโรงเรียนสิ่นหมินเป็นโรงเรียนที่ไม่มีเจ้าของ มันเป็นโรงเรียนของสาธารณะ โดยมีคน จ.พิษณุโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในชุมชนในเมืองเป็นเจ้าของ เค้าให้การสนับสนุน ให้เงินให้อะไรมาตลอด หลายคนก็ถามกลับไปว่าแล้วให้ผมคิดยังไง ผมว่าถ้าไม่ขายทิ้ง ก็ทำมันต้องมีจุดมุ่งหมายที่มัน ชัดเจนกว่านี้เค้าถามผมต่อไปว่า แล้วผมควรจะคิดยังไงต่อไป ผมมี KEYWORD อยู่ 4 ตัว
- ต้องมีความชัดเจนว่าโรงเรียนสิ่นหมิน เป็นสมบัติของสาธารณะ โรงเรียนสิ่นหมิน ตั้งขึ้นมาจะต้องมิได้แสวงหาผลกำไรเป็นตัวตั้ง แต่กำไรจะต้องมี เพราะว่ามันเป็นตัววัด Performance
- หลังจากที่ได้กำไรมาแล้ว เราต้องมีความชัดเจนต่อมาด้วย ว่ากำไรไม่ได้เป็นจุดประสงค์ของเรา แต่มันเหมือนกับข้าวที่ต้องกิน น้ำที่ต้องดื่ม ออกซิเจนที่ต้องเข้าปอด เพื่อให้ร่างกายมันดำรงอยู่ได้ ถ้าหลังจากที่มีกำไรแล้วมันจะต้องนำมาแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างเป็นธรรม ระหว่าง คือ 1.นักเรียน 2.ครู 3.โรงเรียนเอง โรงเรียนต้องซื้อวัสดุมาซ่อมแซมมาเพิ่มเติม
4.แล้ว ก็สังคม อันนี้ คือเรื่องที่ 1. ความเป็นสาธารณะ 2. คือสิ่งที่ผมอยากเห็นต่อมา โรงเรียนสิ่นหมินมี หน้าที่หลักเลย ก็คือเรื่องของการสร้างคน แล้วก็สร้างคนๆ ให้เป็นพลเมืองดีของประเทศ เพราะตอนนี้สิ่งที่ขาดแคลนมากก็คือเรื่องของคนที่จะทำดีด้วยแบบตรงไปตรงมา กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นในสังคมว่า ต้องคิดอย่างนึง พูดอย่างนึง แล้วทำอีกอย่างนึง อันนี้ เราไม่อยากเห็นเป็น Character ของเด็กเรา
- เราอยากจะเห็นเด็กของเรา สามารถดำรงตนได้อย่างมีคุณค่า อันนี้พูดในเชิงของ Value ทั้งต่อตนเอง และคนรอบข้างต่อรอบข้าง ไปไหนก็มีแต่คนอยากคบค้าสมาคมอยากจะ ร่วมงานด้วย คือคนเราถ้าดำรงตนอย่างมีคุณค่า
- เด็กของเราจะต้องรู้จักการยังประโยชน์ตน และยังประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่าง สร้างสรรค์ จะทำยังไงให้เด็กมีวิธีคิด และปลูกฝังเรื่องส่วนตนกับเรื่องของผู้อื่นได้อย่างกลมกลืม ไม่ว่าคุณจะเก่งขนาดไหน รวยขนาดไหน ไม่เหยียบบ่า เหยียบไหล่เค้า หักหลังเค้า “
“ถ้าเราสร้างคนดีๆ ขึ้นมา คนที่รู้จัก ยังประโยชน์ตนและผู้อื่นมันจะดีกว่าไหม โลกใบนี้มันเพียงพอที่จะแบกคนทั้งโลก แต่มันไม่พอ สำหรับเพียงคนโลภเพียงคนเดียว คนจนเขาแค่อยากได้อะไรเพียงบางสิ่ง คนฟุ่มเฟือยอยากได้อะไรหลายๆ สิ่ง แต่คนโลภมันอยากได้ทุกสิ่ง นี่แค่เพียงเบื้องต้น จริงๆ แล้วมันมีเบื้องลึกเบื้องหลัง เขาบอกว่าอยากจะเก็บเกี่ยวผลจากไม้ล้มลุกก็ต้องลงทุนเวลา 1 ปี อยากเก็บไม้ยืนต้นก็สัก 10 ปี ถ้าจะเก็บเกี่ยวคนสัก 100 ปี สร้างคนไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านองคมนตรี ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร ท่านแปลคำว่า “Integrity” คำนี้ได้ดีมาก ท่านแปลว่า ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ ในความถูกต้อง ตามทำนองครองธรรม”
“Never give up คนเราไม่มีสิทธิ์ที่จะดูถูกคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรดูถูกตัวเอง ต้องถามตัวเองก่อนว่าธุรกิจ คืออะไร ตอบให้ได้ เราหลงใหลธุรกิจนั้นจริงหรือเปล่า เราทำเรื่องที่ รู้จริงหรือเปล่า ถ้าเราหลงใหลจริง รู้จริง ถ้ามันเป็นความต้องการก็จบ”
10.ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ประธานมูลนิธิพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
“หลักในการทำงานแล้วหลักในการดำเนินชีวิตของผม คำตอบคือ “อยู่อย่างคน” ชัดเจน เลยทำอะไรที่มันง่ายๆ เรียบๆ สบายๆ แต่ไม่เป็นคนมักง่าย ทำอะไรที่มันยากให้มันง่ายอะไรที่มันยากๆ ผมก็มาพูดภาษาผมให้มันง่ายไม่ต้องมาวิสัยทัศน์ Vision บ้าบอคอแตกภาษาที่ทุกคนเอาไปฟังได้ แต่ถ้าไปสอนนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ต้องพูดให้เขาเข้าใจในเชิง วิชาการ ถ้าพูดให้ชาวบ้านฟังก็ต้องอีกมิติหนึ่งก็ต้องทำได้ ผมอยู่อย่างคนอะไรง่ายๆ ไม่ดีสุดขั้วไม่ชั่วสุดขีดดีบ้างชั่วบ้างเป็นปกติของคน บางทีก็มีอารมณ์ โกรธ โลภ หลง เป็นปกติ แต่พอเรารู้ว่าวันหนึ่งเราโกรธก็ทำให้เราหายโกรธ รู้ว่าโลภก็อย่าโลภก็แค่กินข้าวนิดนึงก็จบแล้วไม่มีอะไรมาก
ในตู้เย็นผมมีกล้วยดำๆ เปิดดูดำๆ ผมก็กินมันไป กลางวันก็กินสามลูกก็อยู่ได้สบาย ตอนเย็นก็หาข้าวยัดๆ ถ้วยนึงก็อิ่มแล้ว ก็คืออยู่ง่ายๆ ไม่ทำไรพิธีการมาก ไม่ทำไรมากมาย เขาเรียกอะไร อยู่อย่างพอเพียง อยากจะกินก็กินไม่ขอใครกิน หากินในป่าในสวนจะเอาอะไร บ้านผมไม่ต้องซื้ออะไร ปลาก็มี ผลหมากรากไม้ พริก หอม กระเทียม มีทุกอย่าง กล้วยสุกนกมากินก็แบ่งนกกินก็ แบ่งกันไปนี่ก็คือชีวิตที่แบ่งปัน”
“หลักการทำงานของผมก็คือ การเดินตามรอยพระยุคลบาทอย่างชัดเจน เพราะพระเจ้า อยู่หัวฯ รับราชการหาต้นแบบราชการก็พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นต้นแบบ แค่คิดเดินตามอย่างเดียว ก็เดินตามไม่ไหวแล้ว ความจริงไม่ต้องไปคิดอะไรใหม่เลย แค่นำแนวทางของท่านมาปรับเข้ากับพื้นที่นั่นเอง พื้นที่พิจิตรนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างนี้ ไปภูเก็ตนำเศรษฐกิจมาใช้อย่างนี้
พอประชุมผมก็นำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ได้ต่างอะไรมากมายเลยผมก็นำเศรษฐกิจของในหลวง มาใช้กับภูมิสังคมกับพื้นที่นั้นๆ นั่นก็คือเราควรรู้ว่าเศรษฐกิจต้องอยู่อย่างไร เศรษฐกิจของพระองค์ท่านก็คือเอาภูมิสังคมให้เกิดประโยชน์ เอาที่ดินมาปลูกข้าวให้กินเกิดประโยชน์ไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างๆ ก็ปลูกถั่ว เลี้ยงปลาต่างๆ เหล่านี้ให้มันเกิดประโยชน์ พระองค์ท่านสอนให้จำ ทำให้เห็น ซึ่งเราก็ทำงานแบบนี้ให้เข้ากับเหตุการณ์ภูมิลำเนาของเรา”
—————————————————————————————————–
11.ดร.เปรมฤดี ชามพูนท ประธานสภาวัฒนธรรม จ.พิษณุโลก
“ดิฉันเกิดมาอยู่ภายใต้กรอบของศาสนา ยายกับแม่เป็นคนเข้าวัด ดิฉันเป็นหลานสาวคนโต มีหน้าที่หอบเสื่อ ตะกร้าหมากเข้าวัดตามยายนั่งฟังพระ บางทีเราไม่เข้าใจ ยายก็เล่านิทานให้ฟัง ที่พระเขาสอนส่วนมากจะเป็นบาปบุญคุณโทษชีวิตที่ โตมา โตมาด้วยบาปบุญคุณโทษชั่วดี
สังคมไม่แข็งแรงบ้านเมืองเราก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นบริบทในการสร้างเมืองของที่นี้ ทำไว้ตั้งแต่เดิมใส่ไว้ 4 บริบทด้วยกัน คือ 1. โครงสร้างพื้นฐานดี 2. สิ่งแวดล้อม 3. คุณภาพชีวิต ดี 4. คุณภาพสังคมและวัฒนธรรมดี การสร้างเมืองของสี่ตัวนี้ยกใส่ไว้ในเมืองพิษณุโลก คือว่าถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อแล้วเมืองเราจะน่าอยู่ไหม แล้วถ้าสังคมมีขยะเลอะ แล้วจะน่าอยู่ไหม ถ้าที่นี้สิ่งแวดล้อมดี ถนนหนทางดี แล้วถ้าคุณภาพชีวิตในเมืองของคุณยังยากจนอยู่อย่างนี้ อาชีพก็ ไม่มี บ้านช่องก็ไม่มีอยู่ มันก็ไม่น่าอยู่ เมืองนี้มีแต่คนจน แต่ถ้าสามตัวนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง พื้นสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี คุณภาพชีวิตนี่หมายถึงอะไรบ้าง หมายถึง งานที่ทำ การศึกษา สุขภาพประมาณอย่างนี้ แล้วต่อไปหลังจากสามตัวนี้ดีแล้วมันใช่หมดไหม
ในการที่จะทำเมืองนี้ให้ดี มันก็ไม่ใช่หมด แต่ถ้าสังคมมันยังเลวร้ายสังคมเต็มไปด้วยยาเสพติด สังคมเต็มไปด้วยขโมย
เริ่มจากการพัฒนามันไม่ใช่แค่ถนนหนทางอย่างเดียว มันไม่ใช่ขยะอย่างเดียวอะไร อย่างนี้ ในการทำการพัฒนาเมืองอย่างเดียวมันต้องมีองค์ประกอบใดบ้างเป็นองค์ประกอบให้ มันโดดเด่น ให้ 4 ตัวนี้มาเป็นองค์ประกอบอยู่ บริบทในการทำงานก็เป็นแบบนั้นอยู่มันจะเป็น โครงสร้างบ้านเมืองที่ดี โครงสร้างพื้นฐานดี สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี แล้วก็ศาสนาดี สังคม วัฒนธรรมดี พอเรากำหนดแนวคิดดีแล้วก็ติดตามวางแนวความคิด เป้าหมายโครงสร้างพื้นฐานวางอย่างไร คุณภาพชีวิตเราจะทำอย่างไร แล้วก็แตกออกเป็นประเด็นๆ แบ่งเป็นเรื่องหนึ่งๆ เรื่องนี้งานมันถึงไป เพราะเรามีเป้าหมาย เพราะงานบทบาทการมีบริบท และมีสวัสดิการเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วเราคิดว่าราทำอะไรก็ตามที่ทำให้เราบ้านเมืองเรา อะไรก็ตามที่ทำให้มันรุ่งเรืองดี ถ้าคนขาดคุณธรรมมันก็ไม่ได้ คนต้องมีคุณธรรม คนต้องมีธรรมะ ต้องเป็นคนดี”
12.ศาสตราจารย์ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
“คนไทยเป็นคนที่เชื่อมั่น แต่คนไทยต้องให้เลือดเข้าตาก่อน สู้แล้วก็ไปได้ดีทำอย่างไร เราจะแก้ตรงนี้ให้ได้ว่าต้องคิดให้เร็วกว่านี้ หมั่นคิดอย่าไปหยุดรอ ทำอย่างไรที่จะให้การเมืองทำงานยาวๆ คิดได้ยาวๆ ทิศทางให้มันถูกต้อง เรื่องเตรียมความพร้อมของนิสิตที่จะเปิด AEC มี 2-3 อย่าง 1. เรื่องภาษา 2. ทำอย่างไรให้เด็กคิดให้มากขึ้น หาโอกาสที่จะไปทำที่อื่นให้มากขึ้น มองหาโอกาสอยู่เสมอ ถ้าไปทำงานที่จีนเราต้องเตรียมตัวอย่างไรต้องคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าโลกไม่ได้หยุดนิ่ง
ในสมัยเด็กครอบครัวผมเป็นใหญ่เป็นโตทั้งนั้นในกองทัพอากาศ แต่ผมก็ไม่เคยสนใจที่จะเป็นนักบินทั้งที่โอกาส 100% เพราะเราเห็นพ่อก็เป็นนักบิน ตาเราก็เป็นนักบิน น้าก็เป็นนักบิน ผมก็ไม่เห็นว่าจะได้ดิบได้ดีสักคน มันก็เสี่ยงตายเสี่ยงเป็ ผมก็เลยไม่เอา ไปเอาอย่างอื่นดีกว่าแล้ว ผมก็ไปอีกทาง ผมเป็นคนชอบธรรมชาติ ผมก็ไปเรียน Genetic เพราะปรับปรุงพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยคนที่เรียนพันธุศาสตร์แทบไม่มี มีเรียนแค่ 1-2 คน ผมเป็นคนที่ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น
ต้องไปเรียนแปลกๆ กว่าคนอื่นเค้า ถ้าเรียนแปลกกว่าคนอื่นโอกาสมันดีกว่า
ผมชอบอ่านหนังสือ ด้วยความที่ผมเป็นคนบ้ายอด้วย ตาจะใช้ผมเสมอ เค้าจะให้ผมอ่านแล้วสรุปให้เค้าฟังเป็นประจำว่าวันนี้มีข่าวอะไรเด็ดๆ ข่าวฆาตกรรม ข่าวสงคราม ผมก็รู้สึกสนุก ผมอ่านแล้วก็ติดจึงไม่ค่อยได้ไปยุ่งที่อื่น เข้าร้านหนังสือไปหาอะไรแปลกๆ มาอ่าน เหมือนถูกบังคับอ่านแล้วสรุปให้ผู้ใหญ่ฟัง”
ในโอกาสครบครอบ 12 ปี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2557 ที่โรงแรมวังจันทร์ริเวอร์วิว โดยจะมีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ผ่านการคัดสรร ที่มีคุณภาพมาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้ากว่า 150 รายการ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในงาน จะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การเปิดตัว 12 สุดยอดนักคิดเมืองพิษณุโลก การจัดนิทรรศการเชิงวิชาการ การรวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์อันโดดเด่น ร่วมไปถึงนิทรรศการ โครงการข้าวไทยดีที่สุดในโลก การแสดงแสงสีเสียงไดโนเสาร์คืนชีพ ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญอีกด้วย
…………………………………………………………………………………………….
ขอบคุณข้อมูลจากทีมงานฝ่ายจัดทำหนังสือ 12 สุดยอดนักคิดเมืองพิษณุโลก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก