คุณสิริพร หร่ายวงศ์ นิสิตหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต เปิดเผยว่า หลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการสื่อสาร คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร จะจัดโครงการสัมมนาวิชาการหัวข้อ “ปฏิวัติคนข่าว คิดทุกครั้งก่อนโพสต์ ไลค์ แชร์” ในวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องสัมมนา 301 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้ความรู้ในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ( Social Network ) ที่มีความถูกต้อง และรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนเป็นการแนะนำวิธีการบริหารข้อมูลข่าวสาร และการรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการข้อมูลข่าวสาร และการสร้างผู้นำในสาขาวิชาชีพด้านการสื่อสารต่อไปนั้น
ด้วยขณะนี้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยข่าวสารเสรีชนิดไร้พรมแดน ประชากรโลกถูกเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร การทำสำเนาหรือการเลียนแบบกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลให้เรากลายเป็นผู้บริโภคสาร และผู้ส่งสารในเวลาเดียวกันอย่างไร้การควบคุมทั้งอาณาบริเวณ และประเภทเนื้อหา และทำให้เกิดเป็นสังคมเสมือน หรือที่เรียกกันว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) จึงทำให้นักการสื่อสาร พยายามสร้างสรรค์กลยุทธ์การสื่อสารบนโลกออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หากผู้รับสารที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ ไม่รู้จักพิจารณาแยกแยะเลือกรับข่าวสารด้วยสติปัญญา ย่อมตกเป็นทาสของความคิด ความรู้ที่พรั่งพรูมาจากผู้ผลิตสื่อ และเป็นผู้พร้อมรับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่จมอยู่ในกระแสทุนนิยม เช่น การนิยมบริโภคอาหารจานด่วน (Fast Food) การนิยมแฟชั่นโปเปลือย การนิยมความหรูหราฟุ้งเฟ้อ การใช้สินค้า และบริการต่างๆ อย่างฟุ่มเฟอย การนิยมเสพสิ่งเสพติดให้โทษ การนิยมเลียนแบบดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย ฯลฯ เสรีภาพไร้พรมแดนของสื่อกำลังจะกลืนกินความดีงามของเรา และบ่อนทำลายปัญญาของเยาวชน โดยอ้างเหตุแห่งความถูกต้องตามสมัยนิยม สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมี “สติ และปัญญา” ในการเลือกรับข่าวสาร ไตร่ตรอง และใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ คนที่รู้เท่าทันสื่อ จะมีทางเลือกมากขึ้นในการบริโภค และการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะรู้ว่าจะจัดการกับสื่อ และสารต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาเราด้วยมุมมองแบบใด (สามารถต่อรองกับด้านลบของสื่อ และนำเอาด้านบวกจากสื่อมาใช้) ยิ่งกว่านั้น การรู้เท่าทันสื่อ ยังเป็นการเพิ่มพลัง และอำนาจให้แก่ตัวเอง ในการควบคุมความเชื่อ และพฤติการณ์ส่วนตัวของเราได้ เช่น ไม่เชื่อตามโฆษณา แต่ดูคุณภาพ และประโยชน์จริงๆ ของสินค้า เป็นต้น เมื่อเราเป็นผู้หนึ่งในการรับ และส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน และ สื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของการใช้ชีวิต เราจะรู้เท่าทันความคิด เจตนา นัยยะ และผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการเสพใช้สื่อนั้นได้อย่างไร และแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามากำกับดูแล อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. แต่ทั้งสองหน่วยงานก็ยังมิอาจกำหนดขอบเขตรับผิดชอบให้ครอบคลุมการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นได้ ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อ “ คือ ทักษะ หรือความสามารถในการ “ใช้สื่ออย่างรู้ตัว” และ “ ใช้สื่ออย่างตื่นตัว”
หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสาร ได้เล็งเห็นถึงปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ที่ต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดโครงการบรรยายเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “ปฏิวัติคนข่าว คิดทุกครั้งก่อนโพสต์ ไลค์ แชร์ ” ขึ้น เพื่อให้ความรู้ และ เปิดมุมมองในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อใหม่ เพื่อให้นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน ตลอดจนผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายทุกคน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่อไป
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทราบถึงกระบวนการ การรู้เท่าทันสื่อใหม่ ตลอดจนนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวิชาชีพ หรือในชีวิตประจำวัน เป้าหมายของโครงการ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และบุคคลที่สนใจจำนวน 200 คน ระยะเวลาการดำเนินการ วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.00-12.00 น. ห้องสัมมนา 301 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลที่คาดว่าจะได้รั นิสิตมีความรู้และประสบการณ์ภายใต้สถานการณ์การเรียนรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิตอล นิสิตได้ทราบถึงแนวคิดการทำงานด้านรู้เท่าทันสื่อใหม่ และ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน เปิดมุมมองที่แตกต่างด้านการทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสารสู่สังคม และการประยุกต์ใช้สื่อใหม่ในการจัดการสื่อสารในรูปแบบของการจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการได้อย่างเป็นระบบต่อไป