เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทั้งจากส่วนกลางและ ป.ป.ท.เขต 6 นำโดย นายพิสิฏฐ์ สกาญจนชัย ผู้อำนวยการ (ผอ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 6 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 3 (สพป.พล.3) ได้ร่วมกันตรวจสอบสนามฟุตซอล 16 โรงเรียน ในพื้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลกเขต 3 หลังได้รับการร้องเรียนว่ามีการใช้งบประมาณในกรก่อสร้างที่สูงเกินจริง สภาพสนามฟุตซอล ขนาดสนามเป็นไปตามสเปคที่กำหนด เพื่อความโปร่งใส
ซึ่งจากการตรวจสอบโรงเรียนวัดบ้านน้อย หมู่ 3 ต.หินลาด อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวในเขตอำเภอวัดโบสถ์ที่ได้รับงบประมาณในการสร้างสนามฟุตซอล เบื้องต้นพบว่าสนามฟุตซอลตั้งบนพื้นที่สนามบาสเก่าของทางโรงเรียน สภาพยังสามารถในการได้ มีการชำรุดของแผ่นโพลีพร็อพไพลีน โคโพลิเมอร์เพียงเล็กน้อย ตาข่ายขาด ขณะที่ขนาดเท่าที่ตรวจสอบพบว่าสนามฟุตซอลขนาดใหญ่กว่าที่ จ.อุตรดิตถ์ ที่ คณะ ป.ป.ท. ได้เดินทางไปตรวจสอบช่วงต้นสัปดาห์นี้ ส่วนความผิดปกติหรือการทุจริตจะต้องดูจากหนังสือสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างอีกครั้ง
สำหรับสนามฟุตซอลทางบริษัทลีกาฟุตซอลจำกัดได้รับเป็นผู้จัดสร้างด้วยงบประมาณ 1,110,500 บาท ประกอบด้วยพื้นสนามขนาด17×32 เมตร ราคา 1,058,500 บาท เสาประตูพร้อมตาข่าย 1 ชุดราคา 35,000 บาท ป้ายบอกคะแนน 10,000 บาท และไฟฟาวส์ 7,000 บาท จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าสนามที่สร้างผิดจากสเปคที่กำหนดเล็กน้อยคือมีขนาด 17×30 เมตร และอุปกรณ์ไฟฟาวส์ ได้รับมอบมาไม่ครบว่าที่ระบุในสัญญา โดยขาดกล่องควบคุมวงจรและกระดิ่งสัญญาณ
นายวัชรวิทย์ บัณฑิตภูริทัต ผอ.โรงเรียนวัดบ้านน้อย เปิดเผยว่า สนามนี้เป็นสนามที่ทาง สพป.เขต 3 มอบให้กับทางโรงเรียน ซึ่งเป็นสนามฟุตซอลเพียงแห่งเดียวใน อ.วัดโบสถ์ที่ได้รับงบประมาณดำเนินการ โดยได้รับมอบสนามฟุตซอลในปี 2555 ซึ่งทางโรงเรียนได้เปิดให้เด็กนักเรียน ตลอดจนเยาวชนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์จากสนามอย่างเต็มที่ ทุกเย็นจึงมีเด็กมาออกกำลังกายในสนามจำนวนมาก ส่วนสภาพสนามก็เป็นไปตามอายุการใช้งาน ซึ่งจากสัญญารับประกันอายุพื้นสนามเพียง 1 ปี นอกจากนี้ ชุดไฟฟาวส์ ได้รับมาไม่ครบ ซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่ทราบว่าคืออะไร ทราบเพียงว่ามีเสาตัวเลข แต่กล่องควบคุมวงจรและกระดิ่งสัญญาณ ไม่ได้ให้มา เมื่อสอบถามทางโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับการจัดสร้างสนามฟุตซอลก็บอกว่าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวเช่นกัน ก็อยากจะเรียกร้องให้ส่งมอบอุปกรณ์ให้ครบเท่านั้น
อย่างไรก็ตามจากการที่ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปตรวจสอบสภาพสนาม อาทิ โรงเรียนท่าทองพิทยาคม ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ยังพบว่าหลายสนามชำรุด บางสนามมีหญ้าขึ้นแต่มีสภาพการใช้งานได้อยู่ ขณะที่พื้นสนามเป็นลักษณะจิ๊กซอร์เชื่อมต่อมีการแตกหักเสียหาย
สำหรับรายชื่อโรงเรียนที่ทาง ป.ป.ท. ลงพื้นที่ตรวจสอบ ประกอบด้วย โรงเรียนในเขต อ.พรหมพิราม 11 แห่ง คือ โรงเรียนวัดสะพานหิน ต.พรหมพิราม โรงเรียนศึกษากุลบุตร ต.พรหมพิราม โรงเรียนวัดท้องโพลง ต.ดงประคำ โรงเรียนหนองสะแกประชานุกูล ต.ตลุกเทียม โรงเรียนหนองมะคัง ต.ทับยายเชียง โรงเรียนทับยายเชียงวิทยา ต.ทับยายเชียง โรงเรียนวัดหางไหล ต.มะต้อง โรงเรียนราษฎร์ศรัทธาวิทยา ต.วงฆ้อง โรงเรียนวังวน ต.วังวน โรงเรียนชุมชนวัดย่านขาดประชาสงเคราะห์ ต.หนองแขม โรงเรียนประชาอุปถัมภ์ ต.หอกลอง พื้นที่ อ.วัดโบสถ์ 1 แห่ง คือ โรงเรียนวัดบ้านน้อย ต.หินลาด พื้นที่ อ.ชาติตระการ 4 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านนาจาน ต.ชาติตระการ โรงเรียนบ้านท่าสะแก ต.ท่าสะแก โรงเรียนชุมชนวัดบ้านดง ต.บ้านดง โรงเรียนบ้านสวนเมี่ยง ต.สวนเมี่ยง รวม 16 โรงเรียน