วันที่ 12 กันยายน 2557 ที่บริเวณหน้าวันท่าช้าง ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก นายทองแดง น้อยรุ่ง อายุ 57 ปี เป็นแกนนำชาวนากว่า 10 คน ร้องเรียนกับสื่อมวลชน หลังจากบริษัทโออินเตอร์จำกัด โดย ร.ต.ชวโรจน์ รักนาค เป็นผู้มีอำนาจในการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมนิลอินทรีย์เพื่อการส่งออก เลขที่ 149/16 หมู่ 8 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้เข้ามาชักชวนชาวบ้านให้ปลูกข้าวหอมนิล โดยมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวกลับคืนในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งชาวนาต่างต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้นจึงได้ทดลองปลูกข้าวพันธุ์หอมนิล ซึ่งเป็นข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเพียง 95 วันซึ่งไม่แตกต่างจากข้าวพันธุ์พิษณุโลก 2 ที่ปลูกอยู่ที่ราคาในปัจจุบันราคาข้าวลดลงเหลือ 5,000-6,000 บาท แต่ข้าวที่บริษัทนำมานั้นปรากฏว่ากลายเป็นพันธุ์ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ ที่มีอายุการปลูกยาวถึง 130 วัน หลังจากมีการปลูกข้าวคนละพันธุ์ทางบริษัทกับเริ่มเงียบหายไป ไม่มาดูแลเช่นเคย ทางชาวนาจึงอยากวอนขอให้บริษัทมารับซื้อข้าวคืนในราคาตันละ 5,000 บาท เพื่อเป็นการขอเงินจากการลงทุนคืน
นายทองแดง น้อยรุ่ง อายุ 57 ปี บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 2 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม กล่าวว่า ตนเองได้ทำสัญญากับบริษัท โออินเตอร์จำกัด นำพันธุ์ข้าวหอมนิลมาปลูก ในพื้นที่ 10 ไร่จากที่นาที่มีทั้งหมด 30 ไร่ ด้วยมีความหวังเนื่องจากบริษัทได้เข้ามาจูงใจว่ามีการประกันราคาการรับซื้อข้าวหอมนิลในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งเพื่อนชาวนาได้ทดลองปลูกข้าวหอมนิล แต่คนละบริษัทได้ราคาผลผลิตดีมาก จึงอยากมีรายได้ดีเช่นเพื่อนชาวนาในหมู่บ้าน จึงทำสัญญากับบริษัทพร้อมซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว 10 ไร่ เป็นเงิน 9,500 บาท แต่หลังจากนำข้าวมาปลูกพบว่าผลผลิตไม่ออก จึงแจ้งให้บริษัทมาดู สุดท้ายบริษัทแจ้งว่าข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ไรซ์เบอรี่ไม่ใช้พันธุ์หอมนิล ซึ่งพันธุ์ข้าวชนิดนี้มีอายุการปลูกนาน 4 เดือน และราคาขายดีกว่าตันละ 13,000 บาท แต่ปัญหาคือผลผลิตไม่ดีและบริษัทแจงว่าจะให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวชุดนี้ขายโรงสีเพื่อเป็นค่าผลผลิตจากการทำนา แต่ชาวนาต้องการให้ทางบริษัทจ่ายเงินชดเชยข้าวที่นำพันธุ์มาให้ผิดในราคาตันละ 5,000 บาท ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง
ขณะที่ นางสุรัตน์ หลวงจิโน อายุ 38 ปี อายู่บ้านเลขที่ 46 หมู่ 2 ต.ท่าช้าง กล่าวว่า ตนได้เห็นโอกาสดีหลังจากรัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำข้าวให้ราคาเป็นไปตามท้องตลาด ทำให้โรงสีกดราคาข้าวต่ำกว่าครึ่ง จึงต้องการโอกาสดีๆ จากการปลูกข้าวพันธุ์หองนิลอินทรีย์ ซึ่งมีราคาขายสูงถึงตันละ 10,000 บาท จึงลงทุนปลูกมากถึง 24 ไร่ โดยช่วงการรับเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เห็นความแตกต่างของเมล็ดข้าว ตนเองได้ท้วงติงทางบริษัทเพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมามีความแตกต่างกัน คือมีบางถุงเมล็ดข้าวใหญ่แต่บางถุงเมล็ดเล็กลีบ แต่ทางเจ้าหน้าที่บริษัทบอกว่า เป็นพันธุ์เดียวกันปลูกได้ สุดท้ายก็พบว่าเป็นคนละพันธุ์ จึงอยากเรียกร้องให้บริษัทออกมารับผิดชอบความผิดพลาดจากการนำข้าวคนละพันธุ์ อีกทั้งข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ที่ปลูกมีอายุการปลูกนาน อาจได้รับความเสียหายได้เพราะน้ำจาก จ.สุโขทัย ที่กำลังมาอีกระลอก อาจท่วมนาข้าวจนได้รับเสียหายก่อนการเก็บเกี่ยว
นางทัศนีย์ พ่วงพร้อม อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6/1 หมู่ 2 ต.ท่าช้าง กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนากำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องจับหนูนามาใช้หนี้ บางคนไม่มีเงินส่งลูกเรียน เพราะปลูกข้าวแต่กลับขาดทุนเพราะผลผลิตต่ำ บริษัทไม่ยอมรับซื้อข้าวที่นำผิดชนิดมาให้ปลูก เพราะเมล็ดข้าวพันธุ์หอมนิลเป็นเมล็ดสีดำเหมือนกันแต่ขนาดเมล็ดแตกต่างกัน จึงอยากวอนขอสื่อมวลชนช่วยเหลือ อย่างน้อยให้บริษัทมารับซื้อข้าวคืนในราคาตันละ 5,000 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ ชาวนาในพื้นที่ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลกส่วนใหญ่ ต่างคุ้นเคยกับการปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก ข้าวอายุสั้น ระยะเวลาปลูก 90-100 วัน และเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมาก แต่ราคา ณ ปัจจุบัน สามารถขายได้ตันละประมาณ 6,000 บาท ในช่วงต้นปี 2557 มีบริษัทเอกชนหลายแห่ง มาชักชวนให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวหอมนิล โดยทำสัญญาจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้ และรับซื้อคืนในราคาตันละ 10,000 บาท มีชาวนาจำนวนมากมาหันปลูกข้าวกับเอกชน และหลายรายก็เก็บเกี่ยวและสามารถขายคืนได้ตันละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูง ใกล้เคียงกับช่วงจำนำข้าว แต่สำหรับชาวนาตำบลท่าช้างกลุ่มนี้ กลับได้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวหอมนิล วิธีการปลูกและวิธีการดูแลก็แตกต่างกัน ข้าวหอมนิลใช้เวลาปลูก 90 วัน และใช้วิธีปลูกแบบหยอด ขณะที่ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ต้องใช้วิธีดำกล้า และใช้เวลาปลูกนานถึง 130 วัน ซึ่งผลผลิตของชาวนากลุ่มนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ดี เนื่องจากช่วงนี้ชลประทานได้งดการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว โดยชาวนากลุ่มนี้ได้ร้องเรียนศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดพิษณุโลกไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า