ความจริงแล้วครอบครัวภักดิ์ประไพ ผู้บริการรถเมล์บ้านเรา หรือ รถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก มีความประสงค์จะปิดกิจการรถเมล์อย่างเงียบ ๆ หลังจากยื่นขอยกเลิกสัมปทานเส้นทางเดินรอบเมืองพิษณุโลกทุกสายและได้รับการอนุมัติจากขนส่งจังหวัดเมื่อเดือนกรกฏาคม2557 พวกเขาไม่ต้องการเป็นข่าวใหญ่โต แต่ด้วยเป็นธุรกิจขนส่งมวลชนที่มีความผูกพันกับชาวพิษณุโลกมาอย่างยาวนานร่วม 52 ปี ทำให้การประกาศยุติกิจการปิดฉากตำนานรถเมล์บ้านเราได้รับความสนใจจากสังคมชาวพิษณุโลกอย่างมาก ย้อนถามไปคนรุ่นอดีต กลาง ๆ ถึงปัจจุบัน ต่างก็เคยนั่งรถเมล์บ้านเราจำนวนมาก
รถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก ถือเป็นระบบขนส่งมวนชนสาธารณะ ที่จัดบริการรถเมล์รอบเมือง ออกวิ่งรับผู้โดยสารตามเส้นทางเป็นเวลา และมีไม่กี่จังหวัดเท่านั้นในประเทศไทย ที่ยังคงมีบริการอยู่ในรูปแบบรถเมล์ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรูปแบบรถสองแถว ครั้งหนึ่ง ในยุคกลาง ๆ ของการบริการ รถเมล์บ้านเรา เคยรุ่งเรืองสุด ๆ ผู้โดยสารขึ้นแน่นเบียดเสียด พนักงานแทบจะเดินเก็บตั๋วไม่หวาดไม่ไหว และถึงขนาดเป็นที่ศึกษาดูงานของสำนักงานของส่งจังหวัดและผู้ประกอบการทั่วประเทศ มาศึกษาดูงานการบริการรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก การประกาศยุติวิ่งบริการทุกสายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 นี้ จึงเป็นที่สนใจอย่างมาก ยิ่งในยุคโซเซียลมีเดียเข้ามาฝังอยู่ในชีวิตประจำวัน ด้วยแล้ว หลังแจ้งพนักงาน 60 ชีวิตได้ไม่นาน ข่าวการเลิกกรถเมล์บ้านเราก็กระจายผ่านเฟซบุ๊คอย่างรวดเร็ว จนถึงปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างอาศัยช่วงจังหวะที่ยังคงบริการอยู่นี้ ขึ้นรถเมล์รอบเมืองถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
“สาเหตุหลัก ๆ คือ แบกรับขาดทุนสะสมไม่ไหว ต้นทุนน้ำมันเพิ่ม สภาพสังคมเปลี่ยนแปลง ประชาชนมีรถส่วนตัวมากขึ้น การใช้บริการลดลง เราภูมิใจที่เราได้เคยรับใช้บริการรับส่งคนพิษณุโลกไปสู่จุดหมายปลายทาง และก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทุกสิ่งมีเกิด มีดับ” นายนรินทร์ศักดิ์ บูรณเขตต์ ผู้บริหารบริษัทพิษณุโลกบริการ จำกัด กล่าว
นายนรินทร์ศักดิ์ เผยต่อว่า สาเหตุที่ยุติการดำเนินการ เพราะทนกับภาวะการขาดทุนอย่างต่อเนื่องไม่ไหว ทั้งค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้โดยสารลดลง สภาพสังคมเปลี่ยนไปมาก ผู้โดยสารลดลง สภาพถนนเท่าเดิม และสภาพการจราจรหนาแน่นมาก กิจการรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก เป็นกิจการครอบครัว บริหารงานแบบกงสี โดยครอบครัวภักดิ์ประไพ เราได้รุ่นลูก รุ่นหลาน ได้ผลัดกันมาดูแลบริหารกิจการหลายรุ่น ตนเข้ามาบริหารครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2556 พยายามประคับประคอง ปรับปรุงรถ ปรับปรุงการบริการ แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไม่สามารถรับภาระขาดทุนได้ ในแต่ละเดือนต้องแบกภาระค่าน้ำมันเดือนละประมาณ 1.5 ล้านบาท ขณะที่ค่าโดยสารที่เก็บได้เดือนละประมาณ 1.2 ล้านบาท และยังมีค่าพนักงานอีกประมาณเดือนละ 5 แสนบาท เมื่อเจอภาระอย่างนี้ ต้องใช้เงินครอบครัวมาอุดหนุนตลอด จึงตัดสินใจ ยกเลิกกิจการรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก และได้ประชุมพนักงาน 60 ชีวิตไปแล้ว ได้ชี้แจงให้พนักงานเข้าใจ และให้เงินชดเชยพนักงานตามกฏหมายทุกอย่าง ขณะที่ผู้โดยสาร ก็จะทำประกาศติดให้ทราบตามป้ายรถเมล์ และบนรถที่บริการอยู่ ขณะที่ทรัพย์สินต่าง ๆ ก็จะทยอยขายออกไป ทั้งรถเมล์ปรับอากาศ รถเมล์ธรรมดา
จุดกำเนิดของรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก ย้อนไปไกลถึงยุคสมัยไฟไหม้เมืองพิษณุโลกครั้งใหญ่ 2 มกราคม 2500 ครั้งนั้นไฟได้โหมย่านตลาดร้านค้าเมืองพิษณุโลกอย่างมโหฬาร และต้องมีการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ สมัยนั้น มีคณะ 18 อาสา เข้าดำเนินงานท้องถิ่น หลังจากฟื้นฟูเมืองจากเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่แล้ว นายอรุณ ภักดิ์ประไพ ผู้ก่อตั้งรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพิษณุโลก ( ปัจจุบันอายุ 102 ปี )ก็เป็นหนึ่งในคณะ 18 อาสา ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “บริษัทพิษณุโลกบริการจำกัด ได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2506 โดยคณะบุคคลคณะหนึ่ง ชื่อคณะ 18 อาสา ( ที่สมัยนั้นรวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ) ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า เมืองพิษณุโลก ควรจะมีการเดินรถรับส่งผู้โดยสารในเขตเทศบางเมืองพิษณุโลก เพื่อความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่น ในสมัยนั้นมีแต่รถสามล้อถีบรับจ้าง ได้รวมเงินกันได้ 555,000 บาท ซึ่งนายอรุณ ภักดิ์ประไพ ที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีก็รวมอยู่ในคณะผู้ก่อตั้งด้วย ได้จดทะเบียนตั้งเป็นบริษัท พิษณุโลกบริการจำกัด ก่อนที่จะมีขนส่งจังหวัด ได้จัดซื้อรถเฟียต ซึ่งทำจากประเทศอิตาลี จากบริษัท กรรณสูต จำกัด เป็นเงิน 2,640,000 บาท จำนวน 19 คัน เดินรถในเขตเทศบาลต่าง ๆ รวม 5 สาย สมัยนั้นจะเดินรถสายไหนก็ได้ เพราะยังไม่มีขนส่งจังหวัดควบคุม
ระยะแรกจัดเดินรถได้ 2 ปี ปรากฏว่า รถชำรุดเสียหายมาก เพราะเป็นรถขนาดเล็ก อะไหล่หลายส่วนชำรุด และเป็นรถที่ไม่ได้อยู่ในความนิยมของตลาด ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้เปิดปัญหาล่าช้า เสียเวลา และค่าขนส่งเครื่องบินแพงมาก แม้บริษัท กรรณสูตจะเมตตา ลดค่าอะไหล่ให้ถึง 40 % การเดินรถของบริษัทก็ยังอยู่ไม่ได้ หุ้นส่วนทั้งหลายทอดทิ้งกันหมด เนื่องจากไม่มีเงินผ่อนค่างวดรถ บริษัทกรรณสูตก็ฟ้องยึดทรัพย์สิน
นายอรุณ ภักดิ์ประไพ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญา ต้องจำยอมหาเงินผ่อนส่งให้บริษัทกรรณสูตจนครบถ้วน และจากนั้นเป็นต้นมา บริษัท พิษณุโลกบริการจำกัด จึงเป็นธุรกิจของนายอรุณและครอบครัวดำเนินงานต่อมา และเป็นจังหวะที่นายอรุณสิ้นสุดการเป็นนายกเทศมนตรี จึงออกมาดำเนินการเป็นช่างยนต์เอง ต่อตัวถังรถยนต์เอง และได้จัดหารถโตโยต้า รถฮีโน่ดีเซลขนาดกลาง มาดำเนินการ โดยหาซื้อมาด้วยวิธีผ่อนส่งครั้งละ 2 คัน จนมีรถประจำทางจำนวนหลายคันวิ่งบริการ ต่อมาได้รับความเมตตาจากนายทองอยู่ ว่องเรืองอรุณ ขนส่งจังหวัดพิษณุโลก ได้ให้ข้อแนะนำหลายประการ ได้ควบคุมดูแลการเดินรถ จนเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ช่วงพ.ศ. 2534 ขนส่งจังหวัดพิษณุโลกได้แนะนำให้ทดลองเดินรถปรับกาอาศประจำทาง ซึ่งสมัยนั้นยังไม่เคยมีเดินรถบริการในเขตเทศบาลใดทั่วประเทศ ยกเว้น ขสมก.ในกรุงเทพมหานครฯ บริษัทพิษณุโลกบริการ เห็นชอบด้วย จึงดำเนินการรถเมล์ปรับอากาศออกบริการ และได้รับความนิยมพอสมควรในสมัยนั้น
การบริหารงานในระยะเริ่มตั้น นายอรุณ ภักดิ์ประไพ บริหารงานร่วมกับคู่ชีวิตนางชวนชื่น ภักดิ์ประไพ กระทั่งท่านเริ่มอายุมากขึ้น ในปี 2532 ขนส่งจังหวัดได้แนะนำให้มีผู้ช่วยงานบริหารต่อจากประธานบริษัทคนแรก คือนายอรุณ ภักดิ์ประไพ คณะกรรมการบริษัท จึงตกลงให้นายนรินทร์ศักดิ์ และนางงามตา บูรณเขตต์ ( บุตรสาวนายอรุณ ) เข้ามาบริหารงานทั้งหมดแทน โดยดำเนินการตามแนวทางที่ประธานและรองประธานวางไว้ ซึ่งในระยะนั้น ได้มีการซื้อรถเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เพียงพอกับผู้ใช้บริการ ก่อนปี 2532 บริษัทพิษณุโลกบริการ จำกัดมีพนักงานไม่เกิน 50 คน มายุคของนายนรินทร์ศักดิ์และนางงามตาบริหารงาน ได้ปรับปรุงหลาย ๆ ด้าน ช่วงปี 2536 มีพนักงานร่วม 160 คน และถือเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงและรุ่งเรืองมากที่สุด รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “รถเมล์บ้านเรา”
การบริการงานของบริษัทพิษณุโลกบริการจำกัด ดำเนินงานในรูปกงสี บริหารงานโดยคนในครอบครัวภักดิ์ประไพ ที่ต่างเป็นคณะกรรมการบริษัท และต่างก็มีหน้าที่การงานอื่น ๆ ด้วยกันอยู่แล้ว และการบริหารงานเดินรถ ต้องมีผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทได้ผลัดเปลี่ยนผู้บริหารที่เป็นบุตร-ธิดา ของนายอรุณผลัดกันเข้ามาบริหารงานหลายรุ่น โดยเปลี่ยนผู้บริหารมาแล้วหลายรุ่น เริ่มจาก อาจารย์งามตา ( ภักดิ์ประไพ ) บูรณะเขตต์ ที่บริหารงานร่วมกับนายนรินทร์ศักดิ์ บูรณะเขตต์ จากนั้นก็บริหารงานโดยนางสุมาลี อุ่นเรือน และตามด้วยรุ่นหลาน คือนายกล้าณรงค์ ภักดิ์ประไพ สุดท้าย นายนิรนทร์ศักดิ์ บูรณเขตต์ กลับมาบริหารอีกรอบเมื่อปี 2556จนถึงปัจจุบันที่ประกาศยกเลิกกิจการ
วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งช่วงปี 2540 เริ่มส่งสัญญาณแรกถึงการดำเนินงานรถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก สมัยนั้นราคาน้ำมันดีเซลเคยพุ่งมาถึงลิตรละ 45 บาท แม้ว่าจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เหลือลิตรละ 38 บาท ไล่มาจนถึง 30 บาทในปัจจุบัน การดำเนินงานของรถเมล์บ้านเราเห็นผลทันทีถึงผลประกอบการต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น บวกกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ประชาชนมีรถส่วนตัวมากขึ้นทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ การบรการขนส่งผู้โดยสารโดยรถสายอื่น ๆ ที่บริการรับส่งระหว่างตำบล ระหว่างอำเภอเข้าสู่ตัวเมืองพิษณุโลกก็เพิ่มขึ้น ยอดผู้โดยสาน ไม่สมันพันธ์กับต้นทุนค่าน้ำมันและค่าบริหารจัดการ ผลการดำเนินงานจากนั้นเป็นต้นมา จึงมีแต่ทรงกับทรุด กระทั่งมาสู่ยุคการบริหารงานล่าสุดของนายนรินทร์ศักดิ์ และนางงามตา บูรณเขตต์ ที่กลับมาบริหารงานบริษัทพิษณุโลกบริการจำกัด อีกรอบเมื่อ 1 เมษายน 2556 ได้พยายามปรับปรุงกิจการและลดต้นทุนการบริหารงานอยู่พักหนึ่ง ย่างเข้าสู่พ.ศ.2557 จึงปรึกษากันในหมู่คณะกรรมการที่เป็นครอบครัวภักดิ์ประไพ ได้ข้อสรุป ยุติกิจการ โดยขอยื่นยกเลิกสัมปทานทุกสายกับสำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลกเมื่อเดือนมกราคม 2557 แต่ปรากฏว่า ขนส่งจังหวัดได้ขอร้องให้บริการออกไปก่อน เนื่องจากจะกระทบกับผู้โดยสารอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงมีความจำเป็นและยังคงใช้บริการถเมล์รอบเมืองพิษณุโลกอยู่ ครั้งนั้น จึงยกเลิกเส้นทางสายกำแพงดิน-บางกระทุ่ม
ก่อนจะตัดสินใจยกเลิกกิจการยังคงเป็นห่วงประชาชนและพนักงาน ได้เข้าปรึกษากับคณะผู้บริหารเทศบาลนครพิษณุโลก ขอให้รับช่วงต่อการบริหารงานรถเมล์บ้านเรา โดยมอบรถทั้งหมดให้เทศบาลและมีเงื่อนไขให้รับพนักงานไว้ดำเนินการด้วย แต่เมื่อเทศบาลศึกษาข้อกฎหมายแล้ว ไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้ กระทั่ง 10 กรกฏาคม 2557 จึงตัดสินใจสุดท้าย ยื่นขอยกเลิกสัมปทานเส้นทางทั้งหมด และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลกเมื่อ 17 กรกฏาคม 2557 ได้แจ้งประชุมพนักงาน ให้เตรียมตัวและดำเนินการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ระยะนี้ ยังคงวิ่งรถเมล์รอบเมืองอย่างต่อเนื่องอีก 6 สาย ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 นี้ ได้แห่ หมวด 1 เส้นรอบเมือง สายอรัญญิก สายบ้านกร่าง สายรอบเมือง สายม.นเรศวร และ หมวด 2 เส้นทางระหว่างตำบล ได้แก่สายท่าตาล สายแม่ระกา
นายปราการ มสิกพรรค์ นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิษณุโลก เปิดเผยในงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ที่ ร.ร. วังแก้ว อ.เมือง จ.พิษณุโลก กรณี รถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก เมื่อ 20 สิงหาคม 2557 ว่า การประกาศยุติให้บริการทุกสาย 30 พ.ย.นี้ สืบเนื่องจากรถเมล์บ้านเราแบกภาระขาดทุนสะสมไม่ไหว ราคาน้ำมันพุ่ง สังคมเปลี่ยนแปลง หลังปรากฏข่าวออกไป ส่งผลให้มีผู้ประกอบการขนส่งหน้าใหม่สนใจและโทรมาสอบถามจำนวนมาก เบื้องต้นจะต้องมีการเปิดรับคำขอใบอนุญาต คือหาผู้ประกอบการใหม่แทน แต่จะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ
ทั้งนี้มาตรฐานรถที่กำหนดไว้ใน 11 เส้นทางของ พิษณุโลกบริการ จำกัด กำหนดไว้เป็นเวลานาน เป็นรถขนาดมินิบัส มีที่นั่งและที่ยืน และเงื่อนไขการเดินรถที่กำหนดไว้เดิม ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หากประกาศรับคำขอใหม่ในเงื่อนไขลักษณะมินิบัสเช่นเดิม ก็จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นคำขอ เพราะไม่สามารถหารถที่มีมาตรฐานดังกล่าวไว้ได้ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบปรับปรุงรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ อาทิ การเดินรถ เวลา จำนวนเที่ยว อัตราค่าโดยสารและมาตรฐานใหม่ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งบกพิษณุโลกภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นขนส่งจังหวัดพิษณุโลกจึงประกาศยื่นหลักเกณฑ์ คุณสมบัติผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 30 วันภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นค่อยออกใบอนุญาต ดังนั้นช่วงนี้ ขนส่งพิษณุโลกจึงเป็นต้องเร่งจัดทำหลักเกณฑ์ตางๆให้ทันเวลา เพื่อนำผู้ประกอบการรายใหม่ทั้ง 11 สายเดินรถได้ทันภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 57 นี้ หรือ แทนรถเมล์บ้านเราที่ยกเลิกไปพอดี โดยคาดว่าขนส่งพิษณุโลกจะปรับปรุงหลักเกณฑ์รถยนต์รูปแบบใหม่ คือ โละทิ้ง มินิบัส ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นรถกระบะ สองแถว(เหมือนรถแดง จ.เชียงใหม่) นำมาวิ่งแทนรถเมล์บ้านเรา โดยให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตสัมปทานเส้นทาง โดยปล่อยอิสระ อาจจะยื่น 1 เส้น หรือ 2 เส้น หรือทั้ง 11 เส้นก็ได้ จากนั้นค่อยมาพิจารณาที่มีประสบการณ์และความสามารถ โดยรถกระบะสองแคว ต้องวิ่งอยู่ในเส้นทางที่กำหนด ห้ามออกนอกเส้นทาง และใช้อัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้
ช่วงนี้จากเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 ในเขตตัวเมืองพิษณุโลกก็จะยังคงเห็นรถเมล์บ้านเราวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง ผู้โดยสารหลายคนก็ทราบข่าว อีกจำนวนมากก็ยังไม่ทราบ และต่างบอกเสียเดียวกันว่ารู้สึกใจหาย เสียดาย เพราะมีความผูกพันเคยใช้บริการกันยาวนาน และเช่นเดียวกัน บรรดาพนักงานรถเมล์บ้านเรา ที่วันนี้ ยังคงเห็นพวกเขาให้บริการผู้โดยสารด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ลึก ๆ ในใจพวกเขา ด้วยความผูกพันในองค์กร ความผูกพันในหน้าที่การ เพื่อนร่วมงาน เชื่อได้ว่าคงมีมากกว่าประชาชนคนใช้บริการแน่นอน จากนี้ไปจะยังคงเห็นพวกเขากับความรับผิดชอบในหน้าที่ จนถึง 30 พฤศจิกายน 2557 วันสุดท้ายของการให้บริการ เป็นวันปิดตำนาน 52 ปี รถเมล์รอบเมืองพิษณุโลก