เมื่อ 31 กค.2557 ที่ห้องบงกชเพชร โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เทศบาลนครพิษณุโลกร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดวงคุยระหว่างผู้เห็นต่างเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ ภายใต้โครงการพัฒนาประสิทธิภาพและการบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างทีมวิทยากรที่มีทักษะเบื้องต้นในการจัดกระบวนการพูดคุยระหว่างบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่าง และสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและมีความสมานฉันท์ท่ามกลางสังคมที่มีความขัดแย้งและความเห็นต่าง โดยจัดการอบรมระหว่างวันที่ 27-31 กรกฎาคม 2557 และมีพิธีมอบใบรับรองสำหรับผู้ผ่านการอบรมในวันนี้ โดยมีนายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกเป็นประธานในพิธีมอบดังกล่าว
นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่าการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการจัดวงคุยระหว่างผู้เห็นต่างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เข้าใจแนวคิดพื้นฐานของธรรมชาติความขัดแย้งสาเหตุและพลวัตของความขัดแย้งและเกิดทัศนคติที่ยอมรับได้กับความแตกต่างโดยไม่นำไปสู่ความบาดหมางและความรุนแรง ตลอดจนมีทักษะเบื้องต้นในการจัดกระบวนการพูดคุยระหว่างบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่าง มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน24 คน ซึ่งใช้วิธีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและฝึกปฏิบัติในหลายรูปแบบที่จะมีการรับฟัง และถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งเพื่อนำไปสู่สาระสำคัญที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการตามโครงการในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ และทีมอาจารย์ของสถาบันพระปกเกล้าให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในการอบรมในครั้งนี้
ด้านพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การจัดทำกระบวนการพูดคุยแบบนี้เราสามารถนำไปใช้ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับคนทั่วไปได้ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะต้องมีวิทยากรกระบวนการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากจะทำให้สิ่งที่เราค้นหาหรือต้องการให้คนที่มาร่วมได้แสดงออกอย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรเป็นกำแพงกั้นเขา โดยการแสดงออกไม่เป็นผลร้าย หรือที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะการทำงานปรองดองในอนาคตข้างหน้า เราต้องเปิดเวทีแบบนี้ให้มากขึ้นแลเปิดกระจายไปให้ทั่ว เวทีแบบนี้จะเป็นที่เปิดรับฟังปัญหา ช่วยในการแก้ไขปัญหาไปด้วยในตัว เพราะสามารถระดมเป็นประเด็นสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ เขาคิดว่าแก้ไขปัญหาอย่างไร ก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ในการมีส่วนร่วมแบบนี้ได้มีการทำโดยอาจจะเป็นมีสภาพลเมือง สภาสันติสุข หรือชุมชนบางชุมชนทำเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งรัฐ ซึ่งเราต้องเปิดพื้นที่แบบนี้ให้กว้างขึ้นมากขึ้น เราจะทำให้สิ่งต่างๆที่เป็นปัญหาสามารถถูกแก้ปัญหาได้ เพราะมีคนได้ระบายมาพูดคุยสามารถทำให้งานต่างๆ ราบรื่นได้ สำหรับความคาดหวังจากการสัมมนาในครั้งนี้ คือ
1. ต้องให้บุคลากรรู้ว่ากระบวนการที่ทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องกายภาพอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องจิตใจเยอะมาก เพราะฉะนั้นการจะใช้จิตใจต้องมีความสุนทรีในการพูด การแสดงออกหรือการสร้างบรรยากาศอันน่าอภิรมย์คือไม่ใช่พูดแล้วบรรยากาศตึงเครียดหมดทั้งที่ประชุม จะทำให้ไม่ได้อะไรที่เป็นสิ่งที่แท้จริงได้
2. ให้รู้จักเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในกระบวนการ กลุ่มเล็กใช้เครื่องมือแบบใด กลุ่มใหญ่ใช้เครื่องมือแบบใดให้มีความเหมาะสม เพราะมีเครื่องมือหลายอย่างสำหรับเครื่องมือนั้นเป็นสิ่งที่มีคนออกแบบสร้างไว้แล้วเรานำมาใช้ได้เลย
3. มีกฎกติกาในเวทีแต่ละเวที เช่น จะแบ่งกันพูดอย่างไร จะพูดซ้ำได้ไหม จะพูดคนละกี่นาทีในแต่ละครั้ง
สุดท้ายถ้าดูบรรยากาศการพูดคุยถ้ามีคนร่วมแสดงความคิดเห็นมากๆ แสดงว่าประสบผลสำเร็จแต่ถ้านั่งเงียบทั้งหมดแสดงว่าเครื่องมือหรือกระบวนการต่างๆไม่ค่อยดี สุดท้ายแล้วเราต้องนำสิ่งที่เขาคิดทั้งหมดมาถ่ายทอดฟีตแบ็คกลับไปให้เขาว่าเขาคิดเขาทำอย่างนี้ใช่ไหม อาจจะทำฉันทามติว่าแล้วคุณคิดว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่คุณคิดว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องการทำเป็นเรื่องแรก และเพื่อให้เขาไม่ต้องเถียงกันใช้ประชาธิปไตยเลือกว่าต้องทำเรื่องอะไรตามลำดับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่