วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณโครงการขุดลอกแก้งลิงบึงระมาณ ม.7 บ้านหล่ายโพธิ์ ต.ปลักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ขณะที่ผู้รับเหมาโครงการได้ขุดลอกแก้มลิงบึงระมาณ ได้พบตอไม้แปลกประหลาด ลักษณะตั้งตรง อยู่บริเวณกลางบึงระมาณ เบื้องต้นมีการแจ้งว่าเป็นตะเคียนยืนต้นตาย ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปตรวจสอบพร้อมกับนายมานะ พันธุ์มา ผญบ.ม.7 บ้านหล่ายโพธิ์ นายนำ อินทร์แก้ว ชาวบ้านหล่ายโพธิ์ และนายไพโรจน์ วงษ์บุญมีฤทธิ์ ผู้จัดการโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงระมาณ ( บริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม จำกัด )
โดยพบว่า จุดที่พบตอไม้ดังกล่าวนั้น อยู่บริเวณกลางบึงระมาณ ในพื้นที่ ม.7 ต.ปลักแรด ในวันนี้ มีชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น เดินทางมาชมตอไม้ดังกล่าวจำนวนมาก โดยผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ใช้รถแบล็คโฮ ขุดล้อมรอบตอไม้ดังกล่าว ตอไม้ดังกล่าวมีความสูงประมาณ 5 เมตร ความกว้างขนาดประมาณ 3 คนโอบ โดยสภาพโผลพื้นผิวก้นบึงระมาณประมาณ 2 เมตร และอยู่ใต้ก้นบึงระมาณประมาณ 3 เมตร บริเวณด้านบนและด้านข้างตอไม้ มีดอกไม้รูปเทียนวางอยู่ บริเวณด้านหัว และท้าย มีลักษณะลอยบาก ลักษณะคล้ายกับจุดที่ใช้โซ่ หรือเชือกผูกมัด เพื่อการลากจูง วันนี้ผู้รับเหมาได้ใช้รถขุดลึกลงไปถึงดินชั้นล่างสุด พบเป็นชั้นดินทราย และไม่พบรากไม้
นายนำ อินทร์แก้ว อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 ม.7 บ้านหล่ายโพธิ์ ต.ปลักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตอไม้ที่ขุดพบไม่ใช่ตะเคียนยืนต้นตาย คนโบราณเรียกกันว่า โพรงไม้เตียบ เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ที่นำตอไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะมีโพรงตรงกลาง มาตั้งไว้กลางบึงระมาณ แต่ตนไม่ทราบว่าทำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จากลักษณะที่มีลอยบาก สำหรับคล้องโซ่ คาดว่าผู้ที่ทำโพรงไม้เตียบนี้ คงใช้ช้างดึงตอไม้ตั้งตรง เพื่อใส่หลุมไว้ โดยทำไว้สำหรับเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค โดยน้ำจะซึมมาอยู่ตรงกลางโพรง ลักษณะน้ำจะใส สะอาด สมัยเด็ก สมัยเด็ก ตนเคยต้อนควายมาเลี้ยงในบึงระมาณ เคยนำพะอง มาตักน้ำในโพรงไม้เตียบขึ้นมากิน ตอนนั้น มีไม้โผล่พ้นผิวดินประมาณ 1 เมตร ต่อมาน้ำท่วมบึงระมาณบ่อยครั้ง กระทั่งดินตะกอนค่อย ๆ มากลบ และไม่ได้ใช้ประโยชน์โพรงไม้เตียบนี้มานานแล้ว
นายไพโรจน์ วงษ์บุญมีฤทธิ์ ผู้จัดการโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงระมาณ บริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ประมูลโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงระมาณ เนื้อที่ 1,700 ไร่ ในปีงบประมาณ 2555-2557 ทำการขุดลอกบึงระมาณมีความลึกจากผิวบึงเดิมโดยเฉลี่ย 4 เมตร เป็นโครงการของกรมชลประทานเป้าหมายเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากความจุ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นแหล่งน้ำใช้สำหรับชุมชนรอบบึงในฤดูแล้ง ขณะนี้การดำเนินการขุดลอกและสร้างอาคารประกอบแล้วเสร็จกว่า 90 % แล้ว
นายไพโรจน์ เผยต่อว่า ก่อนหน้าที่จะขุดพบตอไม้ สภาพบริเวณนี้ไม่เห็นตอไม้ดังกล่าว กระทั่งรถแบล็คโฮมาจ้วงดินบริเวณนี้เพื่อขุดลอกให้ได้ระดับความลึก 4 เมตร ฟันเฟืองของรถแบล็คโฮกระทบกับตอไม้ ฟันของรถตักหักไป 1 ซี่ ตนจึงนำดอกไม้ธูปเทียน มาขอขมาเจ้าที่เจ้าทาง และให้คนงานขุดล้อมลอบตอไม้ดังกล่าวกระทั่งลึกไปถึงโคนต้น เพราะสงสัยว่าเป็นไม้ยืนต้นตายหรืออะไรกันแน่ และไม่พบรากไม้ น่าจะเป็นสิ่งที่คนนำมาตั้งขึ้นนานแล้ว และบริเวณนี้น่าจะเป็นร่องน้ำเก่า เพราะด้านล่างพบชั้นทราย ขณะนี้ได้แจ้งชลประทานจังหวัดพิษณุโลกทราบเบื้องต้นแล้ว ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร และจากการขุดลอกบึงระมาณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ก็พบตอไม้ในบึงบริเวณด้านทิศใต้ ช่วงนั้นตนก็ได้แจ้งชลประทาน และมีการบวงสีวงนำขึ้นมาไว้ใต้ต้นโพธิ์ นอกจากนี้ ไม่กี่วันมานี้ มีร่างทรงโทรศัพท์มาหาตนบอกว่า มีสิ่งสถิตย์ในตอไม้ดังกล่าว และอยากนำขึ้นมา แต่ทั้งนี้จะนำขึ้นมาอย่างไรขึ้นอยู่กับชลประทานจังหวัดจะสั่งการมา
นายมานะ พันธ์มา ผู้ใหญ่บ้านม.7 บ้านหล่ายโพธิ์ เปิดเผยว่า ตนไม่เคยทราบมาก่อนว่า มีโพรงไม้เตียบบริเวณนี้ และเป็นภูมิปัญญาสำหรับเป็นแหล่งน้ำกินของคนสมัยก่อน ถ้าเป็นไปได้ อยากให้นำโพรงไม้เตียบนี้ นำไปขึ้นไว้ที่วัดหล่ายโพธิ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน
นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้รับเหมาแล้วว่า ระหว่างขุดลอกแก้มลิงบึงระมาณ ได้พบตอไม้ลักษณะตั้งตรงวบริเวณกลางบึง ขณะนี้ชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ให้มาตรวจสอบ เนื่องจากเป็นไม้ที่พบอยู่ในดิน และจะหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร