ฆ่าตัวตายในพิษณุโลกแนวโน้มลดลงแต่ยังน่าห่วง

DSC_0164 28 มิถุนายน 2557 ก่อนอื่น พิษณุโลกฮอตนิวส์ ต้องกราบขออภัย และแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณแหม่ม  แซ่เจี่ย  ในการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายในเว็ปไซด์พิษณุโลกฮอตนิวส์เมื่อ 27 มิถุนายน 2557 หลังนำเสนอข่าว มีญาติสนิทและผู้ใกล้ชิดผู้เสียชีวิต ได้แสดงความเห็นเข้ามาหลายท่านในหน้าเพจเฟซบุ๊คพิษณุโลกฮอตนิวส์ ถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย ว่าไม่ได้มาจากการทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรง  ทีมข่าวพิษณุโลกฮอตนิวส์ ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว และวันนี้ ได้ตัดเนื้อหาในส่วนของสาเหตุ ออกจากเนื้อหาข่าวแล้ว การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ  เป็นการสะท้อนถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในจ.พิษณุโลก แนวทางการป้องกันและแก้ไข และต่อไป จะให้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ต่อการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย ทั้งภาพและเนื้อหา

 

จ.พิษณุโลก มีปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนจำนวนมาก และปี 2557 ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เหตุสลดที่สุดคือ ที่ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ข้อมูลจากคุณศิริณี  รสพล ตีพิพม์ในวารสารรักษ์สุขภาพ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ประจำเดือนมิถุนายน 2557 ระบุว่า จากกรณีการฆ่าตัวตาย ของครอบครัววิมุกตานนท์ ที่ต.ไทยย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้สั่งการให้จนท.สาธารณสุขของโรงพยาบาลเนินมะปราง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไทยย้อย และโรงพยาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองขมิ้น ร่วมกันให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตให้กับครอบครัวผู้สูญเสียทันที เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 9 มิถุนายน และพบว่า บิดา มารดา ของผู้เสียชีวิต มีสุขภาพจิตในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามช่วยเหลือทางสุขภาพจิตเป็นระยะ ๆ ต่อไป

DSC_0163

ในวารสารรักษ์สุขภาพ ระบุต่อว่า นายแพทย์บุญเติม  ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า การฆ่าตัวตายสำเร็จของคนในจังหวัดพิษณุโลกในปี 2557 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2557 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 15 ราย ส่วนในปี 2556 พบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 49 ราย  ปี 2555 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 53 ราย พิจารณาแนวโน้มแล้ว พบว่ามีสถิติน้อยลงทุกปี

 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของปี 2556 พบว่า ผู้ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 79.59 มากกว่าเพศหญิง ที่อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 20.40 อายุของผู้ฆ่าตัวตายพบมากที่สุดอยู่ระหว่าง 20-30 ปี รองลงมา 40-60 ปี สาเหตุ 3 อันดับแรกได้แก่ 1.ความรัก หึงหวง 2.ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ( ถูกตำหนี,ทะเลาะกัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องความรักและหึงหวง ) ,หาทางออกไม่ได้ 3.เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคร้าย ชราภาพ ( ที่ไม่มีโรคทางจิต ) และกรณีผู้ป่วยจิตเวชพบ 7 ราย ร้อยละ 14.28 ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 ราย ร้อยละ 4.08 โดยมีวิธีฆ่าตัวตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ ผูกคอ ใช้ปืน และกินสารกำจัดแมลง

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เน้นย้ำให้สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ประเมินสุขภาพจิตประชาชนในเขตรับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการฆ่าตัวตาย และปัญหาสุขภาพจิต ที่สำคัญคือการส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารสุขชุมชนประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดในชุมชน มีความรู้ด้านการประเมินสุขภาพจิต หากพบใครอยู่ในภาวะซึมเศร้า ควรเร่งให้ความช่วยเหลือทันที แต่สำคัญที่สุดคือครอบครัว ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน ยิ่งปัจจันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นยิ่งน่าเป็นห่วง นอกจากสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านแล้ว ประชาชนที่ต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต สามารถโทรฟรี 1667 สายด่วนกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง

มงคลเชาวราช  ทั่งมั่งมี

บรรณาธิการข่าวพิษณุโลกฮอตนิวส์ดอทคอม

28 มิถุนายน 2557

 

แสดงความคิดเห็น