นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก กล่าวถึงกรณีที่กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนแผนจัดการขยะระดับชาติ โดยเตรียมเสนอร่างกฏหมายให้ คสช. พิจารณาดำเนินการเรียกเก็บค่าบำบัดขยะครัวเรือนที่มีการทิ้งขยะเกิน 5 กิโลกรัมต่อวันต้องเสียค่าบำบัดขยะครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือนนั้น ในเรื่องนี้ตนมองว่าถ้าออกมาเป็นกฏหมายก็ต้องถือปฏิบัติ แต่ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เทศบาลนครพิษณุโลกเก็บค่าจัดเก็บขยะหรือค่าขนขยะจากประชาชนเพียงเดือนละ 30 บาทต่อครัวเรือน ในจำนวนประชากร 30,000 ครัวเรือน ขณะที่ปริมาณขยะที่จัดเก็บอยู่ที่วันละ80-100 ตันต่อวัน ค่าจัดการขยะทั้งขนส่งและบำบัดอยู่ที่ตันละ 1,500 บาท ซึ่งค่าจัดเก็บขยะในปัจจุบันไม่เพียงพอ ทางเทศบาลต้องจัดสรรงบประมาณไปจัดการขยะมาโดยตลอด ซึ่งหากมีกฏหมายนี้ออกมา ทำให้การจัดเก็บทำได้เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลดีทำให้เทศบาลมีงบประมาณเหลือไปพัฒนางานด้านอื่นๆเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น
นายบุญทรงกล่าวว่า หากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทำเป็นกฏหมายบังคับทุกครัวเรือนต้องเก็บ 150 บาท ตามเงื่อนไขการทิ้งขยะก็เห็นว่าเป็นข้อดี ใครเป็นคนทิ้งขยะก็ต้องเป็นคนจ่าย เช่นเดียวกับปัญหาน้ำเสีย ใครใช้น้ำประปามากก็เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำเสียมาก ก็คิดค่าการทำน้ำเสียตามปริมาณการใช้น้ำประปาเป็นต้น
“โดยส่วนตัวก็อยากให้เก็บค่าขยะจากปริมาณการทิ้งใครทิ้งขยะมากก็จ่ายมาก ใครทิ้งน้อยก็จ่ายน้อย ถ้าทิ้งน้อยแต่ต้องจ่ายเท่ากันก็ไม่ยุติธรรม ก็ยังสนับสนุนให้จัดเก็บตามปริมาณเพื่อความยุติธรรม ค่าบำบัดขยะที่จะเก็บ มองว่ากำลังคนเทศบาลนครพิษณุโลกน่าจะมีกำลังเพียงพอที่จะสามารถจ่ายค่าบำบัดขยะเดือนละ 150 บาทต่อครัวเรือนได้ เพราะเมื่อมีการทำเป็นกฏหมายออกมาแล้วคงหลีกเลี่ยงไม่ได้”