นายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากการรายงานผลการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในรอบ 10 ปี คือในระหว่างปี 2546 – 2555 มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย โดยในส่วนของผลตรวจคัดกรองสารเคมีในเลือดของเกษตรกร ในจังหวัดพิษณุโลก ในปี 2555 – 2556 ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนเกษตรกรมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงกว่าเกณฑ์ โดยในปี 2555 พบจำนวน 8,225 ราย คิดเป็นร้อยละ 48.73 และในปี 2556 พบจำนวน 5,520 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.69 ตามลำดับ ซึ่งการสัมผัสสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ที่เข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ช่องปากและอาการหายใจ ทำให้เกิดพิษได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังถ้าได้รับในปริมาณมากๆ ทำให้เสียชีวิตได้ง่าย โดยอาจจะมีอาการรู้สึกอ่อนเพลีย ชา คลื่นไส้ ปวดศรีษะ คอแห้ง ตาพร่า หรือมีอาการเจ็บป่วย หรือไม่สบายหลังพ่นสารเคมี ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน และผู้มีอาชีพเกษตรกรรม มีแนวโน้มได้รับพิษค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเพราะเริ่มมีการเพาะปลูก และมีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเด็กจะมีความเสี่ยงการได้รับสารพิษ โดยสาเหตุจากการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง เช่น การเก็บในที่ปลอดภัย การทิ้งภาชนะบรรจุ เป็นต้น ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้ให้ความสำคัญต่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไข และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำข้อมูลไปให้ความรู้แก่กลุ่มเสี่ยง และการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และในส่วนของเกษตรกรนั้นต้องยึดหลัก อ่าน… ใส่… ถอด… ทิ้ง …
อ่าน..คือ อ่านฉลากให้เข้าใจ ใส่…คือ ใส่อุปกรณ์ป้องกันให้มิดชิด ถอด…คือ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ฉีดพ่นสารเคมี แยกซัก ทิ้ง…คือ ทิ้งภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี และสิ่งที่สำคัญต้องทำความเข้าใจและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและรู้หลักในการปฎิบัติอย่างถูกต้อง ถูกวิธีทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค
สำหรับเกษตรกรที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงจากการจะได้รับสารพิษหรือไม่ หรือมีข้อสงสัยในการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงจากการได้รับสารพิษในการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์หมายเลข 055 – 252052 ต่อ 657 – 8 ในวันและเวลาราชการ