วันที่ 21 เมษายน 2557 ปัญหาภัยแล้งเริ่มเห็นผลชัดเจนในหลายพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก ที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แหล่งน้ำในลำคลองธรรมชาติ รวมถึงคลองสาขาในลุ่มน้ำยมตามโครงการบางระกำโมเดลเริ่มแห้งขอด ชลประทานไม่ปล่อยน้ำเข้ามาเพิ่มเติม ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่อ.บางระกำ ต้องหันมาใช้แหล่งน้ำในพื้นที่นาของตนเอง คือ บ่อบาดาล ในการทำนาปรังรอบที่สอง ขณะที่ชาวนาในต.ชุมแสงสงครามร่วม 10 ราย เริ่มปรับวิถีตนเองในการปลูกพืชทางการเกษตร แม้จะยังคงทำนาข้าวอยู่ แต่ก็เริ่มหันมาปลูกเผือก เสริมไปกับการทำนาข้าว เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาข้าวที่ตกต่ำอย่างมาก รวมถึงแหล่งน้ำที่ไม่เพียงพอในฤดูแล้งนี้
นายสุรเดช น้ำทิพย์ อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 76/1 ม.9 บ้านตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ช่วงนี้ในเขตอำเภอบางระกำกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้งอย่างหนัก แหล่งน้ำในคูคลองธรรมชาติเริ่มแห้งขอด ทั้งคลองเกตุ คลองกล่ำ ที่เป็นคลองในการพัฒนาบางระกำโมเดล ชลประทานได้หยุดการปล่อยน้ำมาช่วย และได้แจ้งเตือนให้งดทำนาปรังรอบที่สอง แต่สำหรับพวกตนแล้ว ยังคงต้องทำการเกษตรอยู่ เนื่องจากพื้นที่อ.บางระกำ จะทำนาได้ปีละ 2 รอบเท่านั้น เมื่อถึงหน้าฝนช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม พื้นที่ก็จะประสบปัญหาน้ำท่วม
นายสุรเดช เผยต่อว่า ขณะนี้ชาวนาในบ้านตะแบกงามประมาณ 10 ครอบครัว ได้เริ่มหันมาปลูกเผือก คู่ขนานไปกับการทำนาข้าวแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาข้าวตกต่ำ หลายครอบครัวได้หันมาลงทุนปลูกเผือก ที่เริ่มจากพื้นที่ไม่มาก ควบคู่ไปกับทำนาปรังรอบที่สอง เพราะไม่แน่ใจว่าข้าวที่ปลูกเมื่อเก็บเกี่ยวจะได้ราคาเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันก็ต่ำมากแล้ว ตันละ 5,000 บาท แต่เพื่อลดความเสี่ยงและภัยแล้ง ทำเผือกจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ควบคู่กันไป
สำหรับการปลูกเผือกของนายสุรเดชนั้น จะใช้เวลาการปลูกประมาณ 7 เดือน ในระยะเริ่มต้นการลงทุนต่อไร่จะสูงกว่าลงทุนทำนามาก แต่เมื่อผลผลิตออกมา หากดูแลดี อาจจะได้เผือกหัวละ 1 กิโลกรัม ที่ราคาขายอาจถึงกิโลกรัมละ 20 บาท
นายสุรเดช เผยต่อว่า ตนทำนา 50 ไร่ ได้แบ่งพื้นที่มาทำเผือกประมาณ 4 ไร่ การลงทุนขณะนี้คือต้นเผือก ต้นละ 1 บาท และค่าจ้างแรงงาน ในการปลักดำต้นเผือก โดยระยะแรกจะนำต้นเผือกมาปลักในแปลงนาที่ปล่อยน้ำเข้าไว้ เมื่อเผือกโตได้สักระยะหนึ่งก็จะทำการยกร่อง และปล่อยน้ำมาเลี้ยงตามร่อง และต้องบำรุงรักษาตลอดไม่ให้ขาดน้ำ ที่ทำได้คือต้องมีบ่อบาดาลของตนเองในพื้นที่ เพราะแหล่งน้ำในลำคลองธรรมชาติไม่มีแล้ว และต้องทำคันดินกั้นน้ำ เผื่อช่วงหน้าฝนน้ำจะไหล่มาท่วม โดยบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 7 เดือน จึงเริ่มเก็บเกี่ยว ที่ในหมู่บ้านจะรวมกลุ่มกัน มีผู้มารับซื้อถึงที่ เมื่อเทียบรายได้ต่อไร่ เผือกจะสร้างรายได้ให้กว่าปลูกข้าวมาก