วันที่ 3 เมษายน 2557 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวพิษณุโลกว่า ที่บริเวณแนวกำแพงเมืองโบราณของเมืองพิษณุโลก ที่ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านใกล้ชุมชนวัดน้อย อยู่ในสภาพรกครึ้ม ตามแนวกำแพงเมืองมีวัชพืชขึ้นปกคลุม แถมด้านหน้าริมแม่น้ำน่านก็มีผู้นำเศษขยะจำนวนมากมาทิ้งไว้กลาดเกลื่อน ขนาดมองจากพระราชวังจันทน์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามฝั่งน้ำน่านยังมองเห็นเศษขยะชัดเจน
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบว่า บริเวณดังกล่าว เป็นแนวกำแพงเมืองโบราณของเมืองพิษณุโลก ที่เป็นแนวต่อเนื่องมาจากแนวกำแพงเมืองวัดโพธิญาณที่อยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร แนวกำแพงเมืองจุดนี้ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการก่ออิฐขึ้นมาเป็นแนวกำแพงเมืองเมืองความยาวประมาณ 200 เมตร อยู่เหนือชุมชนวัดน้อยเล็กน้อย จากการตรวจสอบพบว่า สภาพแนวกำแพงเมืองด้านที่ติดกับชุมชนวัดน้อย มีวัชพืชขึ้นปกคลุมอย่างหนา แทบมองไม่ออกเลยว่าเป็นแนวกำแพงเมืองที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ได้ไม่นาน ขณะที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ห่างจากแนวกำแพงเมืองประมาณ 20 เมตร ก็มีผู้นำเศษขยะ เศษวัสดุก่อสร้าง จำนวนมาก มาทิ้งไว้ ส่วนแนวกำแพงเมืองจุดนี้ด้านทิศเหนือยังพอเดินสำรวจบนแนวกำแพงได้ ไม่มีป่ารกครึ้ม แต่ก็เริ่มมีวัชพืชเริ่มขึ้นบางจุด จึงอยากวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพดีด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2544 ปีน้ำท่วมใหญ่ แนวกำแพงเมืองจุดนี้ เป็นจุดหนึ่งที่เป็นแนวกั้นน้ำจากแม่น้ำน่าน ไม่ให้ไหลเข้าสู่เขตเทศบาลนครพิษณุโลก
สำหรับ การค้นพบแนวกำแพงเมืองโบราณบริเวณชุมชนวัดน้อย เกิดขึ้นเมื่อตุลาคม 2553 เทศบาลนครพิษณุโลก มีโครงการจะก่อสร้างถนนเลียบริมตลิ่งตลอดแนวต่อจากหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร-วัดโพธิญาณ เพื่อเป็นเส้นทางสัญจรให้พี่น้องประชาชน รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายในอนาคต แต่จากการเข้าไปดำเนินการพบว่า มีแนวกำแพงโบราณเมืองพิษณุโลก อายุกว่า 400ปี ทอดตัวอยู่เทศบาลฯ จึงอนุมัติงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 6จำนวน 5 ล้านบาท เข้ามาทำการขุดค้นจนนำไปสู่การค้นพบแนวกำแพงเมืองโบราณดังกล่าวทำให้การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งถนนพุทธบูชา ต้องมีการปรับเปลี่ยน จากเดิมจะเป็นการสร้างถนน เป็นการสร้างแนวกำแพงอนุรักษ์เพิ่มทางเดินเท้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เหมือนกับโบราณสถานจังหวัดอยุธยา นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เชื่อมกับพระราชวังวังจันทน์ ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และสนับสนุนวิถีชุมชนโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับเขื่อนจะต้องไม่สูงบดบังกำแพงเมือง เพื่อให้สอดรับกับการอนุรักษ์โบราณสถานและพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองพิษณุโลกต่อไป แนวกำแพงโบราณของเมืองพิษณุโลก ที่ขุดค้นพบสำนักศิลปากรที่ 6สุโขทัย ระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เป็นแนวกำแพงรอบนอกที่ก่อสร้างไว้ป้องกันข้าศึก มีความกว้าง 5เมตร และสูงประมาณ 5เมตร จุดที่ขุดพบมีความยาว 330เมตรทอดตัวยาวอยู่ติดริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ในอดีตระยะห่างของแนวกำแพงเมืองจุดนี้ จากแม่น้ำน่านกับตัวกำแพง สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50เมตรเป็นอย่างน้อย แต่ลำน้ำได้เกาะเซาะและเปลี่ยนทิศทางจนมาชิดแนวกำแพงเมืองในปัจจุบัน
น้ำน่านปี 2554 กัดเซาะแนวกำแพง
ที่มา – https://www.phitsanulokhotnews.com/2011/08/20/1050